จ.สงขลา ประชุมแนวทางการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบ หรืออุโมงค์ลอดทะเลสาบ บริเวณท่าแพขนานยนต์สงขลา
วันที่ 20 มี.ค. 66 นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานการประชุมคณะทำงานศึกษาความเหมาะสมในเบื้องต้น สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา หรืออุโมงค์ลอดทะเลสาบสงขลา ณ บริเวณท่าแพขนานยนต์สงขลา เพื่อเชื่อมต่ออำเภอเมืองสงขลากับอำเภอสิงหนคร ครั้งที่ 2/2566 โดยมี นางสาวดุษฎี พฤกษเศรษฐ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสงขลา นายวงศกร นุ่นชูคันธ์ คณะทำงานฯ นายชัยวุฒิ บัวทอง นายอำเภอเมืองสงขลา พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสงขลา กรมทางหลวงสงขลาที่ 1 แขวงทางหลวงชนบทสงขลา สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสงขลา สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาสงขลา
โดยที่ประชุมได้รายงานผลการตรวจราชการของนายกรัฐมนตรี ในโอกาสลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2566 สำหรับโครงการศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างสะพานข้ามระหว่างอำเภอเมืองสงขลาและอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา โดยจังหวัดสงขลา ได้นำเสนอข้อมูลสภาพทั่วไปและปัญหาการคมนาคมระหว่างอำเภอสิงหนครกับอำเภอเมืองสงขลา และได้จัดทำ Road Map การดำเนินโครงการสรุปดังนี้ (1) ปี 2566 สำรวจความคิดเห็นและความต้องการของประชาชน เบื้องต้นสุ่มตัวอย่างประชากรในพื้นที่จังหวัดสงขลา ประมาณ 700 คน พบว่า มากกว่าร้อยละ 50 เห็นว่าปัญหาการเดินทางระหว่างอำเภอสิงหนครกับอำเภอเมืองสงขลา อยู่ในระดับเร่งด่วน (2) ปี 2567 มอบองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น (3) ปี 2568 – 2569 สำรวจออกแบบก่อสร้าง โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ และ (4) ปี 2570 – 2572 ดำเนินการก่อสร้าง พร้อมเสนอเพื่อขอรับการสนับสนุนเพื่อโปรดทราบการดำเนินงานของจังหวัดสงขลา ในการมอบหมายองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Study) ในด้านต่างๆ ในปี 2567 การมอบหมายกระทรวงคมนาคมสนับสนุนการดำเนินงาน ในการสำรวจพื้นที่พร้อมออกแบบการก่อสร้าง และดำเนินการก่อสร้าง ในห้วงปี 2568 – 2572
ทั้งนี้ ทางคณะทำงานฯ ได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการดำเนินงานโครงการฯ ในปี 2566 (มีนาคม – มิถุนายน) สืบเนื่องจากการประชุมเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 มีมติ มอบหมายจังหวัดสงขลาร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยดำเนินการจัดประชุมระดมความคิดเห็นตามกระบวนการมีส่วนร่วม โดยกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ภาคีเครือข่ายภาคประชาชนทุกภาคส่วน เดือนละ 1 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 3 ครั้ง หรือดำเนินการอื่นใดตามความเหมาะสม และมอบหมายอำเภอสิงหนครและอำเภอเมืองสงขลา ดำเนินการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติม โดยสุ่มกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่บริเวณอำเภอสิงหนคร โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ตำบลหัวเขา เทศบาลเมืองสิงหนคร อำเภอสิงหนคร และตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา รวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 500 ตัวอย่าง พร้อมนำผลการดำเนินงานดังกล่าว นำเสนอต่อที่ประชุมคณะทำงานฯ เพื่อรับรองผลการระดมความคิดเห็นตามกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ภาคประชาชน พร้อมจัดทำรายงานวิเคราะห์ ข้อมูลในเบื้องต้น นำเสนอองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำโครงการศึกษาความเป็นไปได้ต่อไป
อ้างอิง : ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา