สธ.สงขลา เตือนประชาชนเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม
วันที่ 21 ธ.ค. 65 นายแพทย์สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักพายุลมแรงตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2565 ส่งผลให้จังหวัดสงขลาได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างเกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา จึงขอเตือนประชาชนเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม ดังนี้
1.อันตรายจากกระแสไฟฟ้า ทั้งไฟฟ้าช็อตและไฟฟ้าดูด ขอให้ประชาชนป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้า โดยการ
สับคัดเอ๊าท์ตัดกระแสไฟฟ้า ย้ายอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและปลั๊กไฟขึ้นที่สูง ไม่ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าขณะร่างกายเปียกชื้นหรือยืนบนพื้นที่เปียก ห้ามใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่โดนน้ำท่วมและหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำเข้าใกล้ปลั๊กไฟ สายไฟ หรือเสาไฟฟ้า เพราะเมื่อเกิดไฟฟ้ารั่วจะมีกระแสไฟฟ้ากระจายเป็นวงกว้างไม่ต่ำกว่า 3 เมตร หากเจอคนถูกไฟฟ้าดูดให้ปฏิบัติ ดังนี้
ตัดกระแสไฟในที่เกิดเหตุทันทีห้ามสัมผัสตัวผู้ที่ถูกไฟฟ้าดูดด้วยมือเปล่า ให้ใช้ถุงมือยาง ผ้าแห้ง หรือพลาสติกแห้ง
เพื่อเคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุออกจากพื้นที่ หากผู้ประสบภัยหมดสติ ควรทำการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ในบริเวณพื้นที่แห้ง และโทรแจ้ง 1669 ทันที
2.อันตรายสัตว์มีพิษกัดต่อย ที่มักตามมากับน้ำช่วงฝนตกน้ำท่วม เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง แมลงก้นกระดก แมลง
มีพิษต่าง ๆ ที่อาจหนีน้ำมาหลบซ่อนอาศัยอยู่ตามบ้านและมุมมืดต่าง ๆ ฉะนั้น ควรสอดส่องและสังเกตมุมอับของบ้าน
เป็นประจำ สำรวจเสื้อผ้าและรองเท้าก่อนสวมใส่ทุกครั้ง หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำควรแต่งตัวให้มิดชิด และสวม
รองเท้าบู๊ททุกครั้ง เพื่อป้องกันสัตว์มีพิษที่อยู่ในน้ำกัดต่อย
3.โรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรซิส เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน มีหนูเป็นตัวแพร่โรคที่สำคัญแพร่เชื้อออกมากับปัสสาวะสัตว์แล้วปนเปื้อนในน้ำท่วมขัง โดยโรคนี้จะติดต่อทางบาดแผล รอยขีดข่วน หรือไชเข้าตามเยื่อบุตา จมูก ปาก หรือผิวหนังที่แช่น้ำนาน ๆ อาการหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 4 – 10 วัน จะมีไข้สูงทันที ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง และปวดศีรษะมาก บางรายมีอาการตาแดง เจ็บคอ เบื่ออาหาร ท้องเดินร่วมด้วย ควรต้องรีบพบแพทย์ทันที และป้องกันได้โดยสวม
รองเท้าบู๊ทยางกันน้ำ และทำความสะอาดที่พักอาศัยไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยของหนู
4.โรคตาแดง เกิดจากเชื้อไวรัส แต่หากไม่ได้รับการรักษาอาจมีเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ อาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 1 – 2 วัน จะมีอาการระคายเคือง ปวดตา น้ำตาไหล กลัวแสง มีขี้ตามาก หนังตาบวม เยื่อบุตาขาวอักเสบแดง ทั้งนี้ในหากดูแลถูกวิธีจะหายได้ใน 1 – 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ป้องกันได้ด้วยล้างดวงตาให้สะอาดเมื่อถูกฝุ่นละออง
และหมั่นล้างมือบ่อย ๆ
5.อันตรายจากการจมน้ำ ห้ามไม่ให้เด็กลงเล่นน้ำหรืออยู่ใกล้ทางน้ำหลาก อาจพลัดตกน้ำและถูกน้ำพัดพาได้ ห้ามขับรถหรือเดินลุยน้ำท่วมที่ไหลเชี่ยว ซึ่งระดับน้ำสูงเพียง 6 นิ้ว สามารถทำให้เสียหลักล้มได้ให้สวมเสื้อชูชีพ หรือนำอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ติดตัวไปด้วย เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่าปิดฝาขนาด 5 ลิตร ผูกเชือกสะพายลงที่ข้างลำตัว และติดตามข้อมูลข่าวสารสภาพอากาศตลอดเวลาจากช่องทางต่าง ๆ
6.โรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อราและแผลพุพองเป็นหนอง เกิดจากการย่ำน้ำหรือแช่น้ำที่มีเชื้อโรคหรืออับชื้นจากเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายที่ไม่สะอาดเป็นเวลานาน โดยจะมีอาการเท้าเปื่อย เป็นหนอง และเริ่มคันตามซอกนิ้วเท้า ผิวหนังลอกเป็นขุย จากนั้นผิวหนังจะพุพอง นิ้วเท้าหนาและแตก มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนคือผิวหนังอักเสบ ป้องกันได้ด้วยการเช็ดเท้าให้แห้ง หากมีบาดแผลควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดแล้วทาด้วยยาฆ่าเชื้อ
7.โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายจากการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น อาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารค้างคืนหรือเน่าบูด ได้แก่ โรคอุจาระร่วง อาการถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำ อาจมีมูกเลือดและมีการอาเจียนร่วมด้วย อหิวาตกโรค จะถ่ายเป็นน้ำคล้ายน้ำซาวข้าวครั้งละมาก ๆ อาการรุนแรง อาหารเป็นพิษ มักมีอาการปวดท้องร่วมกับการถ่ายอุจาระเหลว คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการปวดศีรษะและเมื่อยเนื้อตัวร่วมด้วย โรคบิด จะถ่ายอุจจาระมีมูกหรือเลือดปน มีไข้ ปวดท้องและมีปวดเบ่งร่วมด้วย
อ้างอิง : สาธารณสุขจังหวัดสงขลา