กำหนดการเปิด-ปิด ภาคเรียนและแนวปฏิบัติสำหรับสถานศึกษา ระหว่างเปิดภาคเรียน
วันที่ 22 มิถุนายน 2563 นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงความพร้อมของกระทรวงศึกษาธิการในการเปิดภาคเรียน ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ตามแนวทาง “โรงเรียนสุขภาพดี นักเรียนมีความสุข (Back to Healthy School)”
นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา เผยว่า สถานศึกษาทุกสังกัดทั่วประเทศจะเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 กระทรวงศึกษาธิการได้มีแคมเปญช่วงเปิดเรียนปีนี้ “โรงเรียนสุขภาพดี นักเรียนมีความสุข (Back to Healthy School)” โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อให้การเรียนของนักเรียน ได้รับทั้งความรู้ และความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลักการสำคัญ คือ การเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2563 เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม – 14 พฤศจิกายน 2563 และภาคเรียนที่ 2/2563 เป็นวันที่ 1 ธันวาคม 2563 – 10 เมษายน 2564 ซึ่งมีเวลาเรียน 180 วัน แต่ก็จะมีการชดเชยให้ครบ 200 วัน ด้วยวิธีการต่างๆ ตามที่โรงเรียนมีอิสระกำหนดได้เอง เช่น เรียนวันเสาร์อาทิตย์ เรียนตอนเย็น เรียนออนไลน์ ฯลฯ
มาตรการในการเปิดเรียน สิ่งสำคัญที่สุด คือ กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ออกคู่มือการปฏิบัติสำหรับสถานศึกษา ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งแบ่งเป็น 6 มิติด้วยกัน
โดยมิติที่ 1 ว่าด้วยเรื่องความปลอดภัยจากการลดการแพร่เชื้อ มีจำนวน 20 ข้อ ในมิตินี้สถานศึกษาทุกแห่งต้องปฏิบัติให้ครบถ้วน 20 ข้อ ตามมาตรการที่กำหนดโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งสถานศึกษาทุกแห่งได้รับคู่มือนี้ไปเตรียมรับการประเมินแล้ว
ส่วนมิติที่เหลือ 24 ข้อ ก็จะเป็นมิติในการเรียนรู้ การครอบคลุมถึงเด็กด้อยโอกาส สวัสดิภาพและการคุ้มครอง นโยบาย และมิติการบริหารการเงิน เพื่อให้สถานศึกษาสามารถนำไปปรับใช้เป็นแนวทางการบริหารจัดการในการเปิดภาคเรียน โดยที่สถานศึกษาทุกแห่งจะต้องผ่านการประเมินนี้ก่อน จึงสามารถเปิดเรียนได้ ซึ่งขณะนี้สถานศึกษากว่าร้อยละ 90 มีความพร้อมผ่านการประเมินแล้ว
สำหรับแนวปฏิบัติของสถานศึกษาระหว่างเปิดภาคเรียน จะต้องมีการคัดกรองสุขภาพ ซึ่งโรงเรียนต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่จุดรับ-ส่งนักเรียน เพื่อจะได้ดูว่านักเรียนมีอาการป่วยหรือไม่ อีกทั้งต้องให้ครูและนักเรียนทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา จัดสถานที่ล้างมือหรือแอลกอฮอล์เจล ลดการแออัด เว้นระยะห่างในห้องเรียน และทำความสะอาดสถานที่ ทั้งนี้ สถานศึกษาทุกสังกัด ทุกระดับ จะต้องมีการปรับปรุงห้องเรียน ด้วยการจัดโต๊ะที่นั่งเรียน ให้เว้นระยะห่างกันไม่ต่ำกว่า 1.5 เมตร และต้องปรับปรุงพื้นที่อื่น ๆ ในโรงเรียน อาทิ โรงอาหารที่ต้องเว้นระยะห่างบุคคลไม่ต่ำกว่า 2 เมตร และต้องมีการทำความสะอาดบ่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องสุขาและจุดสัมผัสต่าง ๆ ที่สำคัญ ต้องงดการทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดความแออัดอีกด้วย
เปิดเทอมวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 สถานศึกษาทุกสังกัด ทั้งโรงเรียนเอกชน โรงเรียนนานาชาติ และสถานศึกษาอาชีวศึกษา ที่สามารถจัดการเรียนการสอนแบบปกติได้ โดยไม่ต้องสลับวันมาเรียน มีจำนวนกว่า 31,000 โรงเรียน ส่วนโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีจำนวนนักเรียนมาก ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนแบบปกติ หรือให้นักเรียนทุกคนมาเรียนพร้อมกันได้ มีจำนวนทั้งสิ้น 4,500 โรงเรียน ก็ต้องสลับกันมาเรียน
ซึ่ง ศธ.ได้วางรูปแบบการเรียนการสอนสำหรับ 4,500 โรงเรียนดังกล่าว ทั้งเรียนออนแอร์และออนไลน์ที่บ้าน ซึ่งแต่ละสถานศึกษาสามารถจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสมกับบริบท อาทิ การสลับวัน/เวลาเรียน เช่น สลับวันคี่คู่ สลับเช้าบ่าย สลับวันเว้นวัน หรือสัปดาห์เว้นสัปดาห์ ฯลฯ
นอกเหนือจากการดูแลภายในโรงเรียนแล้ว ศธ.ยังดูแลการเดินทางมาโรงเรียนด้วย สำหรับรถโรงเรียนที่ ศธ.ดูแล หรือที่โรงเรียนเป็นเจ้าของ ต้องนั่งเว้นระยะห่าง และต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา สำหรับการนั่งเว้นระยะห่างในรถรับส่ง จากเดิมอาจจะใช้รถคันเดียว แต่เมื่อเว้นระยะห่าง อาจจะเพิ่มจำนวนรถมากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่ม กรณีนี้ ศธ.ก็ได้จัดสรรงบประมาณให้ทางโรงเรียนจัดหารถรับส่งนักเรียนเพิ่มเติมแล้ว แต่หากสลับวันมาเรียน โดยใช้รถเท่าเดิม ก็อาจจะไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมในส่วนนี้
ทางด้านเด็กเล็ก หลายฝ่ายมีความกังวลว่าดูแลยาก จึงต้องฝากให้คุณครู และผู้ช่วยครูสอนเด็กปฐมวัย ได้ดูแลอย่างใกล้ชิด สำหรับการนอนของเด็กเล็กให้เว้นระยะห่างการนอน 1.5 เมตร และให้หันเท้าชนกัน เพื่อให้ศีรษะห่างกัน โดยไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยในการนอน
ส่วนการรับประทานอาหารกลางวัน ให้ผลัดกันทานอาหาร อาจจะแบ่งเป็น 3-4 ผลัด ๆ ละ 30 นาที ก็ได้
ส่วนประเด็นที่ผู้ปกครองเป็นห่วงและสอบถามมาก คือ เรื่องการสอบของทุกระดับ ศธ.จะประกาศภายในสองสัปดาห์นี้ว่าจะต้องสอบหรือไม่ ยกเว้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่จะต้องสอบแน่นอน ส่วนระดับชั้นอื่น ๆ ถ้าประกาศแล้วว่ามีการสอบ ศธ.ก็จะปรับตัวชี้วัดให้เข้ากับเกณฑ์ที่สามารถสอนได้ในปีการศึกษานี้ ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 เพื่อให้นักเรียนสามารถได้รับการวัดและประเมินผลการเรียนได้อย่างยุติธรรมในปีโควิด
สำหรับกรณีที่เปิดเทอมแล้ว หากพบนักเรียนหรือครูอาจจะติดเชื้อโควิด-19 ศธ.ได้มีมาตรการรักษาความปลอดภัย โดยต้องคัดแยกผู้มีอาการ และแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขโดยทันที ในระหว่างรอผลตรวจโควิด-19 ยังมีการเรียนการสอนปกติ กรณีตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 ก็สามารถกลับมาเรียนได้ตามปกติ แต่หากตรวจพบเชื้อโควิด-19 นักเรียนและผู้ใกล้ชิดต้องถูกกักตัว 14 วัน และโรงเรียนต้องปิด 3 วัน เพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ ทั้งนี้ หากโรงเรียนที่มีความพร้อมและเด็กโต อาจจะต้องใช้แอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” แต่หากเด็กเล็ก โรงเรียนจะต้องจดข้อมูลบันทึกเอาไว้ เพื่อเป็นหลักฐานการตรวจสอบย้อนหลัง หากมีการพบผู้ติดเชื้อ
กรณีโรงเรียนที่อยู่ชายขอบ ที่มีนักเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านข้ามเข้ามาเรียนไป-กลับทุกวัน ศธ.จะยังไม่อนุญาตให้ข้ามมาเรียน จนกว่าจะมีประกาศผ่อนปรนจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) หรือหากจะเข้ามา ก็ต้องกักตัวใน State Quarantine 14 วัน ก่อนเรียน แต่เพื่อให้การเรียนการสอนเต็มรูปแบบ ศธ.ได้ประสานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ไว้แล้ว โดยอาจให้ครูส่งและเก็บใบงานทุกวัน และใช้การเรียนการสอนผ่านทาง DLTV เช่นเดิม
อ้างอิง : ศูนย์ข้อมูล COVID-19