จ.สงขลาเร่งแก้ไขเกษตรกรและการส่งออกสินค้าหลังได้รับผลกระทบ Covid-19
นายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ประชุมการบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อผลผลิต ทั้งภาคการเกษตร ด้านประมง ด้านปศุสัตว์และอื่นๆ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ห้องประชุม Conference ศาลากลางจังหวัดสงขลา
- ด้านการประมง ที่ได้รับผลกระทบ 2 ชนิดสินค้า ได้แก่ กุ้งทะเล เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไม่มั่นใจในเรื่องราคา จึงชะลอการลงเลี้ยง ส่งผลให้โรงเพาะฟักไม่สามารถขายลูกกุ้งได้ ทำให้มีลูกกุ้งค้างบ่อปริมาณมาก และปลากระพง ซึ่งพ่อค้าคนกลางลดปริมาณการรับซื้อ หรือไม่รับซื้อ ส่งผลให้ต้นทุนค้าใช่จ่ายด้านอาหารปลาเพิ่มขึ้น เพราะต้องเลี้ยงนานขึ้นและเกษตรกรต้องรับความเสี่ยงในกรณีที่ปลาน็อค เนื่องจากปลามีขนาดตัวใหญ่ขึ้น
- ด้านปศุสัตว์ ส่งผลให้ไข่ไก่ได้รับผลกระทบเล็กน้อยในช่วงแรก โดยราคาสูงขึ้นและต่ำลงตามความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งทางสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสงขลา ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสงขลา ได้ติดตามราคาสินค้าเพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการถือโอกาสขึ้นราคา
- ด้านสินค้าด้านเกษตร/พืช พบว่ายังไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากได้มีการประสานผู้ค้าภายในจังหวัดในการกระจายสินค้า มีตัวแทนตลาดรับซื้อผลผลิต รวมถึงการเปิดช่องทางขายออนไลน์และการแปรรูปผลผลิต
จากที่ประชุมทางจังหวัดสงขลามีพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด 2,923,260 ไร่ มีพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญ คือ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน การทำนาข้าว ไม้ผลและพืชผักอื่นๆ เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลให้ภาคการเกษตรเป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากแหล่งรับซื้อหลายแห่งหยุดให้บริการ ทำให้ต้องชะลอการรับซื้อผลผลิตของเกษตรกร หรือซื้อในปริมาณที่น้อยลง
ภาพ/อ้างอิง: สำนักข่าวประชาสัมพันธ์