วิเคราะห์ เรียนออนไลน์ทางออกทางการศึกษาช่วงโควิด-19 ดีจริงหรือไม่?
นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาที่ทั้งโลกเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์จากโควิด-19 หลายๆอุตสาหกรรมทยอยปิดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ประชาชนได้รับผลกระทบไปในทุกย่อมหญ้า ซึ่งก็ไม่เว้นแม้แต่วงการการศึกษาที่นักศึกเรียนจำเป็นต้องปิดเทอมไวกว่ากำหนด ในช่วงของวันที่18 พฤษภาคมนี้ สถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการจะทดลองจัดการเรียนการสอนระบบทางไกลและออนไลน์ เพื่อเตรียมพร้อมเปิดภาคเรียนวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 โดยระดับปฐมวัยถึงมัธยมศึกษาตอนต้น ผ่านช่องรายการโทรทัศน์ มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ (DLTV) ส่วนมัธยมศึกษาตอนปลายผ่านช่อง DLTV และระบบออนไลน์โดยครูต้นแบบ
หากสถานการณ์ไม่คลี่คลายจะจัดต่อเนื่องถึง 30 เมษายน 2564 พร้อมประสานงานกับหน่วยงานด้านการทดสอบและคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ และกลับมาจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน โดยให้เว้นระยะห่างทางสังคมหากสถานการณ์ โควิด-19 คลี่คลาย
ในแง่ของผลกระทบจากการเปิดสอนออนไลน์นั้น มีผู้ปกครองครอบครัวหนึ่งเล่าว่า ตนเองมีลูกระดับประถมและอนุบาลจำนวน 3 คน ซึ่งทั้งหมดต้องเรียนออนไลน์ตามที่นโยบายออกมา แต่เขาไม่มีเวลามานั่งเฝ้าให้ลูกเรียนได้แน่นอน “ข้อจำกัดของแต่ละครอบครัวแตกต่างกัน ตั้งแต่ห้อง อุปกรณ์ ความเข้าใจของพ่อแม่ อย่างตัวผมเองมีอาชีพกรีดยาง ภรรยาเป็นแม่ค้า จะเอาเวลาไหนไปนั่งเฝ้าเด็กๆ” อีกครอบครัวหนึ่งกล่าวว่า ปัจจุบันตนเองตกงาน ขาดรายได้ ทั้งบ้านมีตนเองเป็นเสาหลัก มีลูก 2 คน แต่สองคนต้องเรียนออนไลน์ ทำให้สถานการณ์ในบ้านมันแย่ขึ้น “ถ้าจะต้องเรียนออนไลน์ก็คงไม่ได้เรียนต่อเพราะไม่มีอุปกรณ์การเรียนถึงมีก็ต้องมีสำรองแค่ค่าเทอมก็ไม่มีจ่ายแล้วจะเอาเงินที่ไหนไปซื้ออุปกรณ์”
ไม่เพียงเท่านั้นข้อมูลจาก BBC ประเทศไทยได้ลงพื้นที่ไปยังเขตทุรกันดาร สิ่งที่พบคือ อินเทอร์เน็ตแบบต่อเข้าถึงบ้านยังมาไม่ถึงในบางพื้นที่ หรือแม้ว่าในอนาคตจะมาถึงแล้วก็ไม่แน่ว่าบ้านของนักเรียนจะจ่ายค่าการเข้าถึงโอกาสเดือนละหลายร้อยบาทนี้ได้ เมื่อบางครอบครับยังพึ่งพาเงินจากเบี้ยคนชราเดือนละ 600 บัตรคนจนเดือนละ 300 บาท และอีกส่วนหนึ่งมาจากเงินที่หลานซึ่งทำงานโรงงานต่างอำเภอส่งมาให้
“เปลืองมากไหม…ร้อยนึงเรียนได้กี่วัน” นี่เป็นคำถามจากชาวบ้านทางไกลที่ถามกลับมาในวันที่ผู้ปกครองอย่างบุญยังใช้โทรศัพท์แบบเติมเงิน และไม่เคยรู้ว่าอินเทอร์เน็ตนั้นใช้อะไรได้บ้าง
หากมองอีกแง่นึงในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วการเรียนการสอนในแบบออนไลน์ดูจะเป็นเรื่องที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก อิตาลีเป็นประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนักตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จนรัฐบาลมีคำสั่งปิดร้านค้า สถานที่สาธารณะ รวมถึงโรงเรียน International School of Monza ซึ่งเป็นโรงเรียนนานาชาติแห่งหนึ่งในประเทศอิตาลี ได้เริ่มการเรียนการสอนแบบออนไลน์ทันทีที่มีคำสั่งปิดโรงเรียนจากรัฐบาล ด้วยการถ่ายคลิปวิดีโอแนะนำคุณครู ผู้ปกครอง และนักเรียนถึงแนวทางการเรียนการสอนเพื่อป้องกันความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้น หลังจากนั้น 5 สัปดาห์ โรงเรียนประสบความสำเร็จในการสอนแบบออนไลน์ แม้ว่าทั้งคุณครู ผู้ปกครอง และนักเรียนอาจยังไม่คุ้นเคย แต่ก็สามารถทำได้อย่างไม่มีปัญหา คุณครูและนักเรียนสามารถแชร์ข้อความผ่านกระดาษโพสต์อิทจำลอง ทำงานเดี่ยว งานกลุ่ม และปรึกษากับคุณครูได้ผ่าน Microsoft Teams รวมถึงโรงเรียนตัดสินใจเพิ่มเวลาเรียนให้มากกว่าเดิมเพื่อเพิ่มประสิทธภาพ
อย่างในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย สำนักการศึกษาและนวัตกรรมการเรียนรู้ Education and Innovative Learning Academy หรือ EILA ได้ดำเนินการเปิดคอร์สออนไลน์กว่า 70 รายวิชา สำหรับนักเรียนมัธยมปลาย เรียน ฟรี สำนักการศึกษาและนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดเตรียมคอร์สเรียนออนไลน์ในรายวิชาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย “PSU@MySchool” มากกว่า 70 รายวิชาใน 7 กลุ่มวิชาพื้นฐาน ได้แก่ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และสังคมศึกษา เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับนักเรียนและบุคคลทั่วไปที่สนใจ สมัครเรียนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย และสามารถกลับมาเรียน ทบทวนเนื้อหาในบทเรียนได้ไม่จำกัด และเมื่อเรียนจบตามเงื่อนไขพร้อมรับใบประกาศนียบัตรอิเล็กทรอนิกส์ทันที ซึ่งผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าเรียนได้ที่ mooc.psu.ac.th
เมื่อมองกันชัดๆแล้ว การเรียนออนไลน์สามารถทำให้เป็นรูปธรรมที่ประสบความสำเร็จได้ ถ้าหากประเทศนั้นมีทรัพยากรทางเทคโนโลยีที่ทุกคนสามารถเข้าถึงให้กับทุกกลุ่มทุกชนชั้นทางสังคม เพราะการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลควรจะสร้างความเป็นกลางให้ได้มากที่สุด แน่นอนว่าทางภาครัฐจำเป็นต้องเซ็ตอัพระบบ ทั้งด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ ไม่ว่าจะเป็นระบบอินเตอร์เน็ต อุปกรณ์สำหรับการเรียนรู้ให้เข้าถึงทุกบ้านในประเทศ เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่มีผลกระทบที่มีระดับความรุนแรงไปทั้งโลกขนาดนี้อีกเมื่อไหร่
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติมจาก : mooc.psu.ac.th BBC brandinside
ทั้งนี้ท่านสามารถติดตามรายงานสถานการณ์โควิด-19 ได้ในแบบเรียลไทม์