คณะวิทยาการจัดการ ม.อ. ผุดโครงการเร่งด่วนช่วยเหลือนักศึกษา และผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้
วันนี้ 19 พ.ค. 2563 ที่ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธีรวัฒน์ หังสพฤกษ์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ จัดกิจกรรมแถลงข่าวโครงการ “FMS Smart Startup Company เติมพลังคนรุ่นใหม่สู่การเป็นผู้ประกอบการ SMEs Startup” และโครงการ “FMS Job Matching วจก. ใจสู้ สู่เส้นทางอาชีพ” โดยมีคณาจารย์ รวมทั้งผู้ประกอบการศิษย์เก่าของคณะฯ ตลอดจนสื่อมวลชนทุกแขนงให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังอย่างพร้อมเพรียง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธีรวัฒน์ หังสพฤกษ์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ เผยว่า ทั้งสองโครงการจัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือนักศึกษา และผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโคโรน่าไวรัส หรือ COVID-19 โดยโครงการ “FMS Smart Startup Company” มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมนักศึกษาสู่การเป็นผู้ประกอบการ SMEs Startup โดยการสนับสนุนเงินลงทุนตั้งต้นให้แก่นักศึกษาโครงการละ 30,000 บาท มูลค่ารวม 300,000 บาท ซึ่งนักศึกษาจะต้องรวมกลุ่มกัน และนำสินค้าจากผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ที่ต้องการการพัฒนาในแง่ของนวัตกรรมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า เพื่อนำมาเขียนแผนธุรกิจ โดยเน้นการพัฒนารูปแบบ และแผนการตลาดออนไลน์สำหรับสินค้า การสร้างช่องทางการขายรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจจริงให้แก่นักศึกษา เป็นการช่วยเหลือนักศึกษาให้สามารถหารายได้ในระหว่างเรียน ช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว โดยเฉพาะในสถานการณ์ภายหลังการระบาดของโคโรน่าไวรัส หรือ COVID และเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ให้สามารถขายสินค้าได้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย
ส่วนโครงการ “FMS Job Matching วจก. ใจสู้ สู่เส้นทางอาชีพ” มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งศูนย์จัดหางาน และแนะแนวอาชีพช่วยเหลือนักศึกษาหลังสถานการณ์ COVID-19 โดยมุ่งเป้าหมายให้บริการจัดหางานแก่นักศึกษาทั้งที่กำลังศึกษาอยู่ และที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาที่ต้องการทำงานทั้งในลักษณะ Full time และ Part time และบริการจัดส่งนักศึกษาให้แก่ศิษย์เก่า นายจ้าง และสถานประกอบการที่ต้องการนักศึกษาไปทำงาน รวมทั้งมีการอบรม Upskill และ Reskill เพื่อพัฒนาทักษะของนักศึกษาให้มีความเหมาะสมกับตำแหน่งงานที่ต้องการเข้าทำงานอีกด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีรวัฒน์ หังสพฤกษ์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในสถานการณ์การระบาดของโคโรน่าไวรัส หรือ COVID-19 นักศึกษาของคณะวิทยาการจัดการได้รับผลกระทบเป็นจำนวนค่อนข้างมาก ทั้งในส่วนของนักศึกษาที่กำลังศึกษาและนักศึกษาที่กำลังจะจบการศึกษา
ดังนั้น โครงการ “FMS Smart Startup Company” จะเสมือนเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้นักศึกษามีรายได้ในระหว่างการศึกษาร่วมไปกับการเรียนรู้การทำธุรกิจจริง เพื่อที่จะออกไปเป็นผู้ประกอบการ SMEs Startup ที่เป็นเจ้าของธุรกิจตนเองได้ในอนาคต ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์พัฒนานวัตกรรมด้านการบริหารจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โทรศัพท์ 0-7428-7949 หรือ 08-1542-9060
โครงการ “FMS Job Matching วจก. ใจสู้ สู่เส้นทางอาชีพ” นั้น ทางผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีรวัฒน์ หังสพฤกษ์ กล่าวว่า คณะวิทยาการจัดการได้ประสานความร่วมมือกับสมาคมศิษย์เก่าคณะวิทยาการจัดการ ที่ต้องการช่วยเหลือนักศึกษาในลักษณะโครงการพี่ช่วยน้องภายหลังสถานการณ์ COVID-19 โดยศิษย์เก่าของคณะที่มีบริษัทเป็นของตนเองหลายบริษัทต้องการรับน้อง ๆ นักศึกษาเข้าทำงานทั้งในลักษณะ Part time และ Full time ซึ่งศูนย์จัดหางานและแนะแนวอาชีพช่วยเหลือนักศึกษานี้จะเป็นเสมือนช่องทางสื่อกลางในการประสานการจัดหางานให้แก่นักศึกษาที่ต้องการมีงานทำ และช่วยเหลือประสานสถานประกอบการ นายจ้าง และรุ่นพี่ศิษย์เก่าที่มีธุรกิจเพื่อจัดส่งนักศึกษาไปทำงาน ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยเหลือด้านภาระค่าใช้จ่ายให้แก่นักศึกษาในระหว่างเรียน และช่วยลดปัญหาภาวะการว่างงานของนักศึกษาที่กำลังจะสำเร็จการศึกษา
ด้าน นายประสิทธิ์ โรจนาภากุล อุปนายกสมาคมศิษย์เก่าคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตัวแทนผู้ประกอบการศิษย์เก่า กล่าวว่า ผู้ประกอบการที่เป็นศิษย์เก่าของคณะฯ พร้อมให้การช่วยเหลือและสนับสนุนแก่น้อง ๆ นักศึกษาศิษย์ปัจจุบัน ทั้งอุปกรณ์ เครื่องมือ ทุนทรัพย์ ฯลฯ ทั้งในสถานการณ์ปกติ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ในขณะนี้ ซึ่งจะต้องมีการปรับตัวให้ทันกับเหตุการณ์ โดยนำประสบการณ์จากการโลดแล่นในการทำธุรกิจ ทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และอื่น ๆ มาเป็นพี่เลี้ยงให้กับน้อง ๆ ผ่านโครงการ “FMS Job Matching วจก. ใจสู้ สู่เส้นทางอาชีพ” ในครั้งนี้
นอกจากนี้ คณะวิทยาการจัดการ ยังมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่ EEC ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมรีไซเคิลขยะและของเสีย และอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ ซึ่งประกอบด้วยบริษัทในเขตพื้นที่ EEC 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งหลายบริษัทดังกล่าวก็มีความยินดี และเต็มใจที่จะรับนักศึกษาเข้าฝึกประสบการณ์วิชาชีพ สหกิจศึกษา และเข้าทำงานในบริษัทอีกด้วย โดยจะเริ่มลงทะเบียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.fms.psu.ac.th/jobmatching ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป
อ้างอิง : สวท.สงขลา กรมประชาสัมพันธ์