ผู้ป่วยโรคมะเร็งเมื่อติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะป่วยหนักกว่าคนทั่วไป
นพ. มนูญ ลีเชวงวงศ์ ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางอายุรแพทย์ทางด้านโรคระบบทางเดินหายใจ ได้โพสต์เฟซบุ๊กเพจเกี่ยวกับ ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดระยะแพร่กระจายส่วนใหญ่จะได้ยาเคมีบำบัด และฉายรังสี ยาเคมีบำบัดและรังสี นอกจากจะทำลายเซลล์มะเร็งยังมีผลข้างเคียง กดการทำงานของเซลล์ไขกระดูกและเม็ดเลือดขาว ทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งเมื่อติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะป่วยหนักกว่าคนทั่วไป แต่ยามุ่งเป้าไม่ทำอันตรายกับเซลล์เม็ดเลือดขาว ผู้ป่วยมะเร็งปอดที่ได้รับยามุ่งเป้ามีความเสี่ยงน้อยกว่าคนที่ได้รับยาเคมีบำบัดหรือการฉายแสง ผู้ป่วยมะเร็งต้องล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล ห้ามเอามือที่ยังไม่ล้างมาจับหน้า ตา จมูกและปาก อยู่บ้าน เว้นระยะห่าง 2 เมตรจากผู้อื่น ใส่หน้ากากอนามัยเวลาอยู่ร่วมกับผู้อื่น ห้ามคนที่ป่วยเป็นหวัด ไอ จามเข้าใกล้
ทั้งนี้ ผู้ป่วยหญิงไทยอายุ 75 ปี เป็นโรคความดันสูง ไม่เคยสูบบุหรี่ ในบ้านไม่มีคนสูบบุหรี่ มารพ.ด้วยอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด 5 กิโลกรัมใน 6 เดือน มีไอบ้าง ตรวจร่างกายปกติ เอกซเรย์ปอดมีก้อนขนาด 5.2×4.2 เซนติเมตรที่ปอดขวาด้านบน(ดูรูป) ได้ทำคอมพิวเตอร์สแกนปอดพบก้อนในปอดขวาด้านบน ต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอดขวาโตขนาด 1.6 เซนติเมตร และพบก้อนที่ต่อมหมวกไตข้างขวาขนาด 0.9×1.0 เซนติเมตร ตรวจค่ามะเร็งในเลือด CEA สูง 6.3 ใช้เข็มตัดชิ้นเนื้อจากก้อนในปอดข้างขวาส่งตรวจพยาธิวิทยา ผลชิ้นเนื้อเป็นมะเร็งปอดชนิด adenocarcinoma (ดูรูป) ผู้ป่วยรายนี้เป็นมะเร็งปอดระยะที่ 4 กระจายออกนอกปอดแล้ว ส่งตรวจหาการกลายพันธุ์ของยีน EGFR ให้ผลบวกทั้งที่ Exon 19 deletion และ Exon 21 L858R mutation ได้เริ่มยามุ่งเป้า osimertinib ทานยา 3 เดือน มีผื่นที่ผิวหนังชั่วคราวแล้วหายไป ผู้ป่วยอาการดีขึ้น ค่ามะเร็ง CEA ลดลงมาปกติ เอกซเรย์ปอดซ้ำ ก้อนในปอดข้างขวาเล็กลงมาก(ดูรูป) ผู้ป่วยรายนี้โชคดีที่มีการกลายพันธุ์ของยีน EGFR ถึง 2 ตำแหน่ง จึงตอบสนองต่อยามุ่งเป้าได้ดี แนะนำให้ทานยาต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก : หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC