โฆษก ตร. เตือนภัย ระวังแบงค์พันปลอมระบาด แนะให้ดูแถบสีทอง
วันที่ 24 ต.ค. 65 พล.ต.ต.อาชยนฯ เผยว่า กรณีบนโลกโซเชียลได้มีการโพสภาพและข้อความ ระบุให้ระวังแบงค์พันปลอมระบาด จาก 2 พื้นที่ ซอยกำนัน อ.เมืองอุดรธานี ลูกค้าเอาเงินปลอมมาซื้อหมูกระทะที่ร้าน และร้านขายของชำที่ ต.เชียงหวาง อำเภอเพ็ญ มีลูกค้านำแบงก์พันบาทมาซื้อของภายในร้าน ในกรณีดังกล่าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฝากเตือนประชาชนให้ระมัดระวัง โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้า แม่ค้า ขอให้ตรวจสอบธนบัตรที่ได้รับ โดยเฉพาะธนบัตรที่มีมูลค่าสูง จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพแก๊งปลอมธนบัตร
พล.ต.ต.อาชยนฯ กล่าวต่อว่า สำหรับวิธีสังเกตในเบื้องต้นธนบัตรใบละ 1,000 บาท ว่าปลอมหรือไม่ ให้ดูที่ “แถบสีในเนื้อกระดาษ” ดังนี้ เป็นพลาสติกสีทองที่ฝังไว้ในเนื้อกระดาษตามแนวตั้ง ของธนบัตร จึงเรียกว่า “แถบสีทอง”, ในมุมปกติจะมองเห็นเป็นเส้นประแต่เมื่อส่องกับแสงจะเห็นเป็นเส้นตรงและมีข้อความ “1000 บาท 1000 BAHT” เมื่อพลิกเปลี่ยนมุมมองจะเปลี่ยนจากสีทองเป็นสี เขียว และลวดลายในแถบจะกลิ้งเคลื่อนไหวไปมาได้แถบสีอาจมีรอยขูดขีด หลุดลอกชำรุดจากการใช้งานได้ แถบสีที่อยู่ในเนื้อกระดาษธนบัตรแต่ละฉบับสามารถอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ตรงกันได้ โดยอาจเลื่อนไปทางซ้ายหรือขวา ตามระยะที่มาตรฐานกำหนดไว้ โดยโทษฐานปลอมหรือแปลงธนบัตร ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 240 ระบุไว้ว่า ผู้ใดทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตรา ไม่ว่าจะปลอมขึ้นเพื่อให้เป็นเหรียญกษาปณ์ ธนบัตรหรือสิ่งอื่นใด ซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หรือทำปลอมขึ้นซึ่งพันธบัตรรัฐบาลหรือใบสำคัญสำหรับรับดอกเบี้ยพันธบัตรนั้นๆ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเงินตรา ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 10 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 40,000 บาท
สำหรับการใช้เงินปลอมซื้อของโทษสูงสุดติดคุก 15 ปี การใช้ธนบัตรปลอมในการซื้อสินค้าและบริการเป็นการกระทำที่มีความผิดตามกฎหมายอาญาโดยแบ่งความผิดตามเจตนาของผู้ใช้ธนบัตรปลอมออกเป็น 2 ประเด็นหลัก
1.ได้ธนบัตรปลอมมาโดยไม่รู้ว่าเป็นของปลอม แต่ต่อมาเมื่อรู้ว่าเป็นของปลอมแล้วยังขืนนำออกไปซื้อสินค้าและบริการต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 10 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 245
2.การมีธนบัตรปลอมไว้เพื่อใช้โดยที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นของปลอมต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 30,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 244
อ้างอิง : สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)