จังหวัดสงขลาเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก(UNESCO)ด้านอาหาร ชูความโดดเด่นทางวัฒนธรรมอาหารเมือง 3 น้ำ 2 ทะเล
วันที่ 23 ต.ค. 65 สืบเนื่องจาก อพท. ได้ดำเนินศึกษาศักยภาพและความเหมาะสมของเมืองที่สามารถพัฒนาสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO ประจำปี 2564 โดยได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเป็นที่ปรึกษาโครงการ ซึ่งได้มีการศึกษาข้อมูล สำรวจและวิเคราะห์ศักยภาพและความเหมาะสมของเมืองในพื้นที่พิเศษของ อพท. รวมถึงพื้นที่เตรียมประกาศฯ ที่มีความพร้อมในการขับเคลื่อนเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก และ อพท. ได้เลือกจังหวัดสงขลาเพื่อศึกษาในรายละเอียดตามองค์ประกอบของการสมัครเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก
ที่ผ่านมา อพท. ได้จัดกิจกรรมสร้างความร่วมมือกับเมืองที่ เป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ภายในประเทศไทยของจังหวัดสงขลา ประจำปี 2565 ประกอบด้วย การจัดประชุมเพื่อสร้างการรับรู้ในระดับนโยบายของจังหวัดสงขลา และระดับชุมชนท้องถิ่น กิจกรรม “ชวนคิด ชวนคุย” ขับเคลื่อนอย่างไรให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ โดยผู้แทนจากจังหวัดภูเก็ต (เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกด้านอาหาร) และผู้แทนจากจังหวัดสุโขทัย (เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน) และกิจกรรมเสวนาแบบจำลองวิธีการที่ใช้ในการสนับสนุนวัฒนธรรมและความสร้างสรรค์ของเมืองในระดับชุมชนท้องถิ่น (Creative and Innovative Space Simulation) โดยผู้แทนจากเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกจากต่างประเทศ
จังหวัดสงขลา มีศักยภาพและมีความโดดเด่นในการขับเคลื่อนเมืองไปสู่การสมัครเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานและทุนทางวัฒนธรรม มีการผสมผสานของความหลากหลายทางวัฒนธรรม สงขลายังเป็นเมืองที่มีความโดดเด่นหนึ่งเดียวในประเทศ คือเป็นเมือง 2 ทะเล มีทั้งทะเลสาบสงขลา 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม และทะเลฝั่งอ่าวไทย มีภูมินิเวศแบบโหนด-นา-เล คือต้นตาล ท้องนา และทะเล เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ก่อให้เกิดวัตถุดิบในการทำอาหารที่หลากหลาย ทั้งทางบกและทางน้ำ วัตถุดิบหลายชนิดพบได้เฉพาะที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเท่านั้น นำมาสู่วัฒนธรรมอาหาร ทำให้กลายเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของเมืองสงขลาจนถึงปัจจุบัน
อ้างอิง : สวท.สงขลา