สงขลา เกษตรกรวอนรัฐกวาดล้างหมูเถื่อนต่อเนื่อง ก่อนผู้เลี้ยงอำลาอาชีพ เหตุสู้ไม่ไหว
วันที่ 23 ต.ค. 65 นายปรีชา กิจถาวร นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ เปิดเผยว่า หมูเถื่อนยังเป็นปัญหาสำหรับผู้เลี้ยง โดยยังมีการขายกันทั่วประเทศ ทั้งในท้องตลาด และเสนอขายผ่านโลกออนไลน์ ในราคาต่ำมากที่ 130-140 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้เกษตรกรมีความกังวลต่ออาชีพ เนื่องจากหมูลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ยอดขายหมูทรงตัวหรือถดถอยลง ขณะที่ธุรกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคใต้อย่างเช่นจังหวัดสงขลา และฝั่งทะเลอันดามัน ทั้งภูเก็ต กระบี่ พังงา
ซึ่งถือเป็นตลาดผู้บริโภครายใหญ่กำลังเติบโตขึ้น โดยปกติจะมีความต้องการบริโภคหมูเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่ปัจจุบันตลาดหมูกลับไม่คึกคัก ภาคผู้เลี้ยงจึงคาดว่ามีเป็นหมูเถื่อนทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ผลกระทบนี้เกิดขึ้นกับผู้เลี้ยงหมูทั้งอุตสาหกรรม ทั้งเกษตรกรรายเล็ก รายย่อย ที่ต้องล้มหายตายจากไป เพราะสู้กับต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงที่ปรับขึ้นทุกตัวไม่ไหว ทั้งราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ค่าพลังงาน ค่าเวชภัณฑ์ ค่าแรงงาน ขณะที่ผู้เลี้ยงรายกลางและรายใหญ่ก็ดำเนินธุรกิจอย่างยากลำบากเช่นกัน
นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ กล่าวอีกว่า ทางสมาคมฯได้ร่วมกับปศุสัตว์จังหวัดพัทลุง จัดสัมมนาการผู้เลี้ยงหมูแบบปลอดภัย มีมาตรฐาน ตามนโยบายกรมปศุสัตว์ที่ส่งเสริมการเลี้ยงหมูในการกลับมาเลี้ยงใหม่ ที่ จ.พัทลุง ซึ่งเป็นพื้นที่เลี้ยงหมูรายใหญ่อันดับ 1 ของภาคใต้ มีประชากรหมูเกือบ 5 แสนตัว พบว่าเกษตรกรตื่นตัวมากอยากกลับมาเลี้ยงหมูให้ปลอดภัยจากโรคและการผลิตมีประสิทธิภาพดี ผลผลิตที่ได้มีประปริมาณพอสมควร อย่างไรก็ตามภาคผู้เลี้ยงยังกังวลกับอนาคตของอาชีพ เพราะถึงแม้ธุรกิจท่องเที่ยวจะเติบโตและปกติความต้องการบริโภคหมูจะพุ่งสูง แต่ขณะนี้ความต้องการซื้อหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มกลับทรงตัว เหตุเพราะหมูเถื่อนยังเกลื่อนเมือง ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูพัทลุงต้องเบรกการลงเลี้ยงหมูรอบใหม่ เนื่องจากหมูเถื่อนมีต้นทุนต่ำ เกษตรกรสู้ราคาไม่ไหว
ทางด้านนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรและชิ้นส่วนจากต่างประเทศมาจำหน่ายในประเทศ จึงให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดตรวจค้นจุดที่มีความเสี่ยงในการลักลอบนำเข้า เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกา (ASF) และปกป้องผู้เลี้ยงในประเทศ ซึ่งเมื่อช่วงต้นเดือน ก.ย.65 สามารถจับกุมการลักลอบนำเข้าได้ 3 คดี รวม 35,000 กิโลกรัม (กก.) มูลค่า 7.34 ล้านบาท ส่วนผลการดำเนินงานตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ค.65 ถึงปัจจุบันสามารถจับกุมได้ 5 คดี รวม 43,800 กก. มูลค่า 8.94 ล้านบาท
อ้างอิง : สมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ , สำนักพัฒนานโยบายและแผนการประชาสัมพันธ์