สธ.สงขลา เตือนประชาชน ระมัดระวังป้องกันโรคเมลิออยด์
วันที่ 19 ต.ค. 65 นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ได้กล่าวว่า โรคเมลิออยโดสิส ( Melioidosis ) หรือ โรคเมลิออยด์ หรือโรคไข้ดิน เป็นโรคติดเชื้อประจำถิ่นของทุกประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Burkholderia pseudomallei ซึ่งพบได้ในดินและน้ำ พบได้ทุกภาคของประเทศไทย เชื้อโรคชนิดนี้ติดต่อสู่คนโดยการสัมผัสเชื้อในดินหรือน้ำ โดยเฉพาะการสัมผัสกับเชื้อบริเวณผิวหนังที่มีแผลเปิดนั้นเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อสูงรวมทั้งการดื่มน้ำและรับประทานอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน และอาจจะได้รับเชื้อผ่านทางการหายใจ จากการสูดหายใจเอาฝุ่นผงดินที่มีเชื้อเข้าไป ส่วนการแพร่กระจายระหว่างมนุษย์กับมนุษย์นั้นมีการรายงานว่าพบได้น้อย สำหรับสถานการณ์โรคเมลิออยด์ ของจังหวัดสงขลา ตั้งแต่ 1 ม.ค. – 18 ต.ค. 2565 ได้รับรายงานผู้ป่วยฯ จำนวน 24 ราย เสียชีวิต 7 ราย พบผู้ป่วยในทุกกลุ่มวัย แต่ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานและกลุ่มอายุ 65 ปี ขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาชีพรับจ้าง งานบ้าน และเกษตรกร พบจำนวนผู้ป่วยมากที่สุดในพื้นที่อำเภอเทพา (7 ราย ) รองลงมาคืออำเภอเมืองสงขลา (5 ราย ) และสิงหนคร (4 ราย) และพบผู้ป่วยกระจายในพื้นที่ทุกอำเภอ
อาการของโรคเมลิออยด์ ไม่มีอาการแสดงจำเพาะ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไข้สูง พบว่าผู้ป่วยครึ่งหนึ่งมีอาการคล้ายปอดอักเสบติดเชื้อ บางรายอาจมีอาการ ไข้สูง ช็อก จากการติดเชื้อในกระแสเลือดเพียงอย่างเดียว แต่บางรายอาจจะมีการติดเชื้อหลายๆอวัยวะร่วมกันเช่น มีแผลติดเชื้อ มีฝีหนองที่ปอด ตับ หรือม้าม ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเรื้อรังหรือไอเรื้อรังคล้ายวัณโรคได้การติดเชื้อ มักรุนแรงนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว ช็อก ระบบหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้ โดยกลุ่มเสี่ยงที่สุดคือ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง และผู้ที่สัมผัสเชื้อจากดินและน้ำ เช่น เกษตรกร เด็กๆที่เล่นน้ำในนา นอกจากนี้ ผู้มีโรคประจำตัวที่เป็นสาเหตุให้มีภูมิคุ้มกันต่ำอื่นๆ เช่น โรคมะเร็ง วัณโรค โรคธาลัสซีเมีย ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน และ ผู้ป่วยที่รับยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ได้กล่าวย้ำว่า โรคเมดิออยด์ มีอัตราการเสียชีวิตสูง ต้องใช้ยาปฏิชีวนะที่จำเพาะต่อโรค และสามารถป้องกันได้ ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันโรคเมลิออยด์ ดังนั้น การลดความเสี่ยงในการรับเชื้อโรคทำได้ ดังนี้ สวมรองเท้าบูทเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากการที่เท้าสัมผัสกับดินและน้ำเป็นเวลานาน ทำความสะอาดร่างกายทันทีหลังการสัมผัสกับดินและน้ำ , ดื่มน้ำสะอาดและน้ำต้มสุกหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ สำหรับอาการที่ต้องรีบพบแพทย์ ได้แก่ มีอาการไข้สูงเป็นเวลานานเกิน 3 วัน หรือ เกิดแผล ฝี หนอง ตามร่างกาย ควรรีบพบแพทย์
อ้างอิง : สาธารณสุขจังหวัดสงขลา