ไทย-มาเลเซีย จับมือเร่งสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลก
วันที่ 15 ส.ค. 65 ความร่วมมือไทย-มาเลเซีย เห็นพ้องเร่งสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลก พัฒนาด่านจังหวัดชายแดนใต้ พัฒนาร่วมกันที่ครอบคลุม ทั้งความมั่นคงทางการเมือง เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว พลังงาน สาธารณสุข และประเด็นความร่วมมือทางสังคมและวัฒนธรรมอื่น ๆ โดยจะมีการทำโรดแมปเพื่อให้บรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ภายใต้กรอบเวลาที่ชัดเจนต่อไป
ผลจากประชุมร่วมไทยและมาเลเซีย ผ่านคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (เจซี) และคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดน ระดับรัฐมนตรี (เจดีเอส) ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ทั้งสองประเทศเห็นชอบในแนวทางการพัฒนาร่วมกันที่ครอบคลุม ทั้งความมั่นคงทางการเมือง เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว พลังงาน สาธารณสุข และประเด็นความร่วมมือทางสังคมและวัฒนธรรมอื่น ๆ โดยจะมีการทำโรดแมปเพื่อให้บรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ภายใต้กรอบเวลาที่ชัดเจนต่อไป
การค้า จะตั้งเป้าหมายมูลค่าการค้าที่ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี พ.ศ. 2568
การท่องเที่ยว ส่งเสริมการเดินทางเคลื่อนย้ายของประชาชนและกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อชาวมุสลิมและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
การเสริมสร้างความเชื่อมโยง จะเร่งรัดให้โครงการต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งรวมถึงการสร้างถนนเชื่อมต่อด่านสะเดาแห่งใหม่-บูกิตกายูฮิตัม และการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก 2 แห่ง รวมทั้งจะศึกษาความเป็นไปได้โครงการความเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดสตูลและรัฐปะลิส และเส้นทางรถไฟความเร็วสูง
การขับเคลื่อนความร่วมมือในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ มีประเด็นดังนี้
1) การพัฒนาศักยภาพด่านศุลกากรชายแดนไทย – มาเลเซีย ในพื้นที่จ.นราธิวาส ที่อำเภอสุไหงโกลก อำเภอตากใบ และด่านบูเก๊ะตา อำเภอแว้ง
2) โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลก แห่งที่ 2 อำเภอสุไหงโกลก และที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
3) โครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามนโยบายของรัฐบาล ขณะนี้ ได้ข้อสรุปที่ดีตามเป้าหมาย โดยเฉพาะเรื่องการก่อสร้างสะพานทั้งสองประเทศจะร่วมกันผลักดันให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมและเร็วที่สุด เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนในการขนส่งการค้าชายแดน และกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
อ้างอิง : ศอ.บต. , คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (เจซี)