สธ. เผยเฝ้าระวังโควิดโอมิครอน BA.4 – BA.5 ติดเชื้อง่ายกว่าเดิม
วันที่ 6 ก.ค. 65 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการเฝ้าระวังโควิด 19 สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ว่า จากการตรวจสายพันธุ์เบื้องต้นช่วงวันที่ 25 มิ.ย. – 1 ก.ค. 65 พบว่าเป็นสายพันธุ์โอมิครอน 100% จำนวนนี้เป็นสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 ครึ่งหนึ่งคือ 51.58% เพิ่มขึ้นจาก 2 สัปดาห์ก่อนที่พบจากประมาณ 6.7% และ 44.3% คาดว่าอีกไม่นานจะแทนที่ตัวเก่า BA.2 ซึ่งขณะนี้พบ 47.15% ส่วนผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่เริ่มกลับมาพบมากขึ้นนั้น ยังไม่ชัดเจนว่าเกิดจากเชื้อ BA.4/BA.5 ทำให้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งยังต้องรอการพิสูจน์ เนื่องจากตามปกติเมื่อมีการติดเชื้อมากขึ้น สัดส่วนของผู้ป่วยอาการหนักก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลตัวอย่างกลุ่มที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่เพื่อสำรวจภาพรวมของประเทศ จำนน 175 ราย เป็น BA.4/BA.5 ประมาณ 35.8% เมื่อแยกดูตามกลุ่มต่างๆ พบว่า กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 44 ราย พบ 29.5% กลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีค่า CT ต่ำหรือติดเชื้อเยอะ 19 ราย พบ 29.5% และกลุ่มที่มีอาการรุนแรง 11 ราย พบ 36.4% ก็จะเห็นว่าสัดส่วนไม่ได้แตกต่างกัน จึงยังไม่ปรากฏว่ามีความรุนแรงจาก BA.4/BA.5 เมื่อเทียบกับ BA.2 เดิม เพียงแต่กลุ่มผู้ป่วยอาการรุนแรงยังมีตัวอย่างน้อย 11 ราย จึงขอความร่วมมือโรงพยาบาลส่งตรวจในกลุ่มคนไข้อาการหนักใส่ท่อช่วยหายใจมากขึ้น ก็จะทำให้ตัวเลขทางสถิติแม่นยำมากขึ้น ส่วนผู้เสียชีวิตยังไม่พบ BA.4/BA.5 ยังเป็น BA.2
ทางกรมควบคุมโรคได้คาดการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่และเสียชีวิต ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.65 เป็นต้นไป ว่าอาจเกิดการระบาดเป็นระลอกเล็ก ๆ (Small Wave) ได้ ซึ่งช่วงนี้มีสัญญาณว่ากำลังมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น อาจทำให้มีผู้ไปรักษาในโรงพยาบาลมากขึ้น หากยังคงมาตรการเหมือนช่วงเดือนมิ.ย. คาดช่วง 10 สัปดาห์จากนี้ไปจนถึงเดือนก.ย.จะเป็นช่วงพีคสุดของเวฟในการเจอผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล แต่ถ้าผ่อนคลายมาตรการทั้งหมดไม่สวมหน้ากาก ก็อาจจะมีผู้ป่วยมากขึ้นอีก และหากกลุ่ม 608 ป่วยมากขึ้น ก็อาจจะเป็นระลอกใหญ่ขึ้นได้ ดังนั้น อย่าเพิ่งรีบผ่อนหน้ากากอนามัย ขอให้ใส่ไว้ก่อนเมื่ออยู่ในสถานที่ปิด สถานที่แออัด ขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะกลุ่ม 608 และรีบไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยลดและป้องกันอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตลงได้
อ้างอิง : กระทรวงสาธารณสุข