ม.อ.หาดใหญ่-สงขลา เผยงานวิจัยพบแมวแพร่เชื้อโควิด-19 สู่คน ย้ำมีความเสี่ยงต่ำต่อกรณีที่เกิดขึ้น
วันที่ 20 มิ.ย. 65 รศ.ดร.นพ.ศรัญญู ชูศรี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ แถลงข่าวผลงานวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.65 ในวารสาร Emerging Infectious Diseases ของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐฯ (CDC) ที่ระบุว่า ไทยน่าจะเป็นประเทศแรกที่พบการติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งคาดว่าเป็นการติดจากแมวสู่คน
รศ.ดร.นพ.ศรัญญู ชูศรี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า งานวิจัยดังกล่าวเป็นการเก็บตัวอย่างจากกลุ่มผู้ป่วย 2 คนเป็นพ่อและลูกที่ติดเชื้อโควิด19 เมื่อวันที่ 4 ส.ค.64 มีอาการของ COVID-19 และตรวจพบผลเป็นบวกในกรุงเทพฯ แต่เนื่องจากเตียงเต็ม จึงถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ซึ่งก็ปรากฏว่าทั้ง 2 คนพาแมวที่เลี้ยงมาด้วย
เมื่อมาถึงแมวจึงถูกส่งไปยังโรงพยาบาลสัตว์แห่งหนึ่งเพื่อทำการตรวจ โดยมีสัตวแพทย์หญิงวัย 32 ปี ตรวจหาเชื้อด้วยการแยงจมูกและทวารหนัก ซึ่งก็พบผลเป็นบวก ทั้งนี้ขณะที่กำลังสวอบ แมวตัวนี้ได้จามใส่หน้าสัตวแพทย์หญิง ที่กำลังใส่ถุงมือ หน้ากาก แต่ไม่ได้ใส่ face shield หรืออุปกรณ์ป้องกันดวงตาต่อมาวันที่ 13 ส.ค. สัตวแพทย์หญิงเริ่มมีอาการของ COVID-19 เช่น ไอและเป็นไข้ จากเดิมที่ยังสุขภาพดี ไม่เคยมีอาการใดๆ มาก่อน แต่ก็ไม่ได้ไปพบแพทย์จนกระทั่งวันที่ 15 ส.ค. จนสุดท้ายก็ตรวจพบผลเชื้อไวรัสเป็นบวก
ทั้งนี้รศ.ดร.นพ.ศรัญญู ชูศรี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโรงพยาบาล และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ สาขาวิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. ได้ชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นของการติดเชื้อโควิดจากแมวสู่คน ซึ่งข้อเท็จจริง คือ จากผลการวิจัยเกี่ยวกับการติดเชื้อโควิดจากแมวสู่คนนั้น มีโอกาสเป็นไปได้ แต่ยังอยู่ในภาวะที่ต่ำมาก เพราะแมว หรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ เมื่อติดโควิด สัตว์เหล่านี้แสดงอาการน้อย และโอกาสการแพร่กระจายเชื้อต้องเกิดจากการที่น้องแมว ไอ หรือ จาม หรืออุจจาระ เป็นต้น ซึ่งถ้าเราป้องกันเป็นอย่างดีก็จะลดโอกาสการติดได้
อ้างอิง : โรงพยาบาลสงขลานครินทร์