กรมควบคุมโรค เผยโรคฝีดาษลิงติดจากสัตว์สู่คนได้ แม้มีโอกาสติดน้อยแต่ต้องเฝ้าระวัง

กรมควบคุมโรค เผยโรคฝีดาษลิงติดจากสัตว์สู่คนได้ แม้มีโอกาสติดน้อยแต่ต้องเฝ้าระวัง

วันที่ 24 พ.ค. 65 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากรายงานข่าวที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก กรณีสหราชอาณาจักรพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงเพิ่ม 4 คน รวมเป็น   7 คนนั้น โรคฝีดาษลิงไม่ใช่โรคใหม่ แต่เคยระบาดมาแล้วมากกว่า 20 ปี โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เช่นเดียวกับไวรัสอีกหลายชนิด ได้แก่ ไวรัสที่ทำให้เกิดฝีดาษในคนหรือไข้ทรพิษ (variola virus) ไวรัสที่นำมาผลิตวัคซีนป้องกันฝีดาษในคน (vaccinia virus) และฝีดาษวัว (cowpox virus) เชื้อไวรัสฝีดาษลิงพบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนูป่า เป็นต้น รวมทั้งคนก็สามารถติดโรคได้

Baby Japanese Macaque Sitting On A Rusty Pipe

คนสามารถติดโรคจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน การประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ป่า หรือกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ หรืออาจติดทางอ้อมจากการสัมผัสที่นอนของสัตว์ป่วย การแพร่เชื้อจากคนสู่คนแม้มีโอกาสน้อย แต่อาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ผิวหนังที่เป็นตุ่ม หรืออุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อ เมื่อคนรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน อาจนานถึง 21 วัน โดยอาการเริ่มแรกจะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หนาวสั่น อ่อนเพลีย จากนั้นประมาณ 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนหน้าและลำตัวได้ด้วย ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา อาการป่วยจะประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ โดยอาการรุนแรงมักพบในกลุ่มเด็ก ซึ่งในประเทศแอฟริกาพบอัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 10

Closeup Shot Of A Monkey Sitting And Looking At The Camera With A Blurred Background

 นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการป้องกันควบคุมโรค เริ่มต้นด้วยการป้องกันตนเอง คือ 1) หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า  2) หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ  3) หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า  4) ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการ คัดกรองโรค  5) กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน  หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ

Macaque Monkey Nibbling On Corn Seeds In Cambodia
A macaque monkey slowly nibbling on corn seeds with its hands in front of its mouth. Monkey fed by tourists in Phnom Penh, Cambodia, South East Asia

อ้างอิง : อธิบดีกรมควบคุมโรค

Next Post

ผู้เชี่ยวชาญจากอิโคโมสสากล เดินทางมาจังหวัดสงขลา เพื่อให้คำแนะนำในการนำสงขลาสู่มรดกโลก

Tue May 24 , 2022
ผู้เชี่ยวชาญจากอิโคโมสสากล เดินทางมาจังหวัดสงขลา เพื่อให้คำแนะนำในการนำสงขลาสู่มรดกโลก วันที่ 24 พ.ค. 65 นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานการประชุมการเตรียมความพร้อมจังหวัดสงขลาสู่การเป็นเมืองมรดกโลก พร้อมด้วย นางสุรียพรรณ์ ณ สงขลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายพงศ์ธันว์ สำเภาเงิน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา โดยมี Mr.Duncan Marshall (มาแชล ดันแคน) และ Mr.Johannes Widodo (โจฮันเนส วิโดโด้) เดินทางมาเป็นคณะกรรมการเพื่อให้คำแนะนำอันเป็นประโยชน์ในการนำสงขลาสู่มรดกโลก และสู่กระบวนการพิจารณาเป็นเมืองมรดกโลกอย่างเป็นทางการ จังหวัดสงขลาร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนโครงการเมืองเก่าสงขลาสู่เมืองมรดกโลก เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของเมืองเก่าสงขลา พัฒนาต่อยอดให้มีคุณค่าในระดับสากล ตามแนวทางของ UNESCO ที่ว่าด้วยเรื่องเมืองมรดกโลก ซึ่งปัจจุบันการทำงานอยู่ในขั้นตอนของการประเมินศักยภาพเบื้องต้น หรือ Upstream process โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาสงขลาสู่เมืองมรดกโลก และแต่งตั้งคณะทำงาน […]
ปกข่าว 01