สงขลา เชิญเด็กอายุ 12 – 17 ปี เข้ารับวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเทอม
วันที่ 1 พ.ค. 65 นายแพทย์สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า การฉีดวัคซีนจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ทำให้สถานศึกษาสามารถกลับมาเปิดเรียนได้ และแม้เด็กอายุ 12 – 17 ปี จะได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วแต่เมื่อเวลาผ่านไป ภูมิคุ้มกันที่มีจะลดลงจึงควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เมื่อครบระยะเวลาที่กำหนด และการฉีดวัคซีนโควิด-19 (ไฟเซอร์) เป็นการฉีดเข็มกระตุ้นผ่านระบบการศึกษาในกลุ่มเป้าหมายอายุ 12-17 ปี (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6) ที่มีสุขภาพแข็งแรง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดเทอมภาคการศึกษาที่ 1/2565 โดยบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งสูตรการฉีดในกลุ่มเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปที่ศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า
โดยเป็นเด็กที่มีประวัติการได้รับวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีม่วง ครบ 2 เข็ม เป็นระยะเวลา 4-6 เดือนขึ้นไป หรือเป็นผู้ที่ต้องการได้รับการกระตุ้นด้วยวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีม่วงเป็นเข็มกระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 ขนาดครึ่งโดส (15 ไมโครกรัมต่อโดส) นอกจากนี้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปที่อยู่นอกระบบการศึกษา , ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มขึ้นไป ที่ไม่ใช่วัคซีน ไฟเซอร์ทั้ง 2 เข็ม , นักเรียน/นักศึกษา อายุ 12 ปีขึ้นไปที่อยู่ในระบบการศึกษาที่มีประวัติการได้รับวัคซีน ไฟเซอร์ฝาสีม่วงครบ 2 เข็มเป็นระยะเวลา 4-6 เดือนขึ้นไป และต้องการได้รับการกระตุ้นด้วยวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีม่วง ขนาดเต็มโดส (30 ไมโครกรัม/โดส) สามารถเข้ารับวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีม่วงเข็มกระตุ้น ผ่านระบบสถานพยาบาลตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขโดยต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ โดยเด็กอายุ 12 – 17 ปี สามารถ Walk in เข้ารับบริการที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือเข้ารับวัคซีนผ่านระบบสถานศึกษา ที่ตนเองศึกษาได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ซึ่งการฉีดวัคซีนโควิด 19 เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรค ป้องกันการติดเชื้อ และหากติดเชื้อ จะช่วยลดอาการรุนแรงของโรค ลดการเสียชีวิต และยังเป็นการลดการแพร่เชื้อ โดยสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง มีการจัดระบบการจัดบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้รับบริการ สำหรับอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน ได้แก่ ปวดบริเวณที่ฉีด อ่อนล้า หนาวสั่น มีไข้ ผิวหนังบริเวณที่ฉีดแดง ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน หรือมีอาการปวดศีรษะ หากมีอาการดังกล่าวหลังฉีด 30 นาที ขอให้รีบแจ้งแพทย์/พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่สังเกตอาการทันที แต่หากกลับบ้านแล้วเกิดมีอาการ ดังกล่าว ขอให้รีบแจ้งสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วน 1669 และควรงดออกกำลังกายอย่างหนัก หรือทำกิจกรรมอย่างหนักเป็นเวลา 1 สัปดาห์หลังฉีด
สำหรับจังหวัดสงขลามีเป้าหมายการฉีดวัคซีนกลุ่มอายุ 12 – 17 ปี จำนวน 92,235 คน โดยขณะนี้กลุ่มดังกล่าวได้ฉีดไปแล้ว โดยฉีดเข็ม 1 จำนวน 87,580 คน คิดเป็นร้อยละ 94.25 , เข็ม 2 จำนวน 86,064 คน คิดเป็นร้อยละ 98.3 และเข็ม 3 จำนวน 1,938 คิดเป็นร้อยละ 2.25 (ข้อมูลตั้งแต่ 1 ตค 2564 – 19 เม.ย. 2565)
อ้างอิง : สาธารณสุขจังหวัดสงขลา