สธ.สงขลา แนะวิธีดูแลเมื่อเด็กติดโควิด-19 เนื่องจากการติดเชื้อส่วนใหญ่มาจากการสัมผัสคนในครอบครัว
วันที่ 13 มี.ค. 65 นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 สายพันธุ์โอไมครอนซึ่งกำลังแพร่ระบาด เด็ก ๆ อาจมีความเสี่ยงสูงในการได้รับเชื้อจากครอบครัว โรงเรียน สถานที่เรียนพิเศษ สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือสถานที่มีเด็กรวมตัวกันจำนวนมาก โดยสาเหตุหลักมาจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ และการละเลยการดูแลสุขอนามัยสำหรับเด็ก
การดูแลเด็กในสภาวะที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวที่มีลูกเล็ก หรือเด็กก่อนวัยเรียน ต้องมีความเข้มงวดในการดูแลมากกว่าในวัยอื่น ๆ แม้การติดเชื้อโควิด – 19 ในเด็กส่วนใหญ่กว่า 90 % อาการไม่รุนแรง แต่มีกลุ่มที่ต้องระมัดระวังพิเศษ คือเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี และเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่นโรคหัวใจ โรคปอด ไตวายเรื้อรัง หรือภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
สำหรับ ระยะฟักตัวของเชื้อโรคประมาณ 14 วัน และมีอาการของโรคใน 4-5 วันหลังจากที่ได้รับเชื้อซึ่งอาการของเด็กติดโควิด-19 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกมีอาการระดับน้อย มีไข้ต่ำ มีน้ำมูก ไอเล็กน้อย ไม่มีอาการเหนื่อยหอบ ถ่ายเหลว รับประทานอาหาร และดื่มนมได้ปกติ ไม่ซึม ในกลุ่มนี้สามารถรับยา รักษาตามอาการสามารถเข้าระบบการรักษาที่บ้านได้ (Home Isolation) กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มอาการปานกลางถึงรุนแรง คือ กลุ่มทีมีอาการป่วย มีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส หายใจเหนื่อยหอบ หรือหายใจเร็วกว่าปกติ ใช้แรงในการหายใจ ปากเขียว ระดับออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า 94% ไม่รับประทานอาหาร ไม่ดื่มนม ซึ่งเด็กในกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลโดยสถานบริการสาธารณสุขทันที
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ได้กล่าวย้ำว่า ขอแนะนำแนวทางเบื้องต้นในการดูแลเด็กให้ปลอดภัย ห่างไกลจากโรคโควิด -19 ดังนี้คือ
1) พ่อแม่ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล ควรงดเว้นการสัมผัสใกล้ชิดโดยไม่จำเป็น
2) เมื่อมีไข้หรือปวดศีรษะ ให้ทานยาลดไข้ ส่วนใหญ่จะมีอาการไข้ไม่เกิน 2 – 3 วัน จะค่อย ๆ ดีขึ้น
3) หากมีน้ำมูก ถ้าให้ทานยาลดน้ำมูกเท่าที่จำเป็น
4) อาการไอให้รับประทานยาแก้ไอตามอาการและจิบน้ำอุ่นบ่อย ๆ
5) หากไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส หายใจหอบเร็วกว่าปกติ หน้าอกบุ๋ม ปีกจมูกบาน ตอนหายใจ ปากเขียว ระดับออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า 94% ซึมลงงอแงไม่ดูดนม ไม่กินอาหาร ถ่ายเหลว หรืออาเจียนมากต่อเนื่องกัน ควรรีบนำเด็กไปโรงพยาบาล หรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน
อ้างอิง : สาธารณสุขจังหวัดสงขลา