ไทยเตรียมพร้อมเข้านำโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น บิ๊กตู่ขอประชาชนเข้มมาตรการ การ์ดอย่าตก
วันที่ 10 มี.ค. 65 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความพร้อมสำหรับมาตรการรองรับการเปลี่ยนผ่านการระบาดของโรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น ว่า เป็นไปตามนโยบายและข้อสั่งการของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมสอดคล้องกับระดับสถานการณ์
โดยคำนึงถึงทั้งสุขภาพของคนไทย รวมทั้งการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีเน้นบริหารจัดการเตรียมความพร้อมในทุกมิติ ครอบคลุมทั้งการเฝ้าระวังสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศ การบริหารจัดการวัคซีน มาตรการป้องกันและควบคุมโรค คู่ขนานไปการรักษาระบบเศรษฐกิจสร้างรายได้เข้าประเทศ เพี่อให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพและดำรงชีวิตได้เป็นปกติใหม่ภายใต้หลัก Universal Prevention
สำหรับมาตรการเตรียมความพร้อมเข้าสู่โรคประจำถิ่น มีแผนดำเนินการที่ครอบคลุมทุกมิติ โดยอัตราความรุนแรงของโรคจะต้องสามารถควบคุมได้ มีสถานพยาบาลที่สามารถรองรับผู้ป่วยได้อย่างเพียงพอ ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับจำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ภายใต้อัตราส่วนของสากล สอดคล้องกับมาตรฐานองค์การอนามัยโลก
– ระยะที่ 1 (12 มี.ค.-ต้น เม.ย.) เรียกว่า Combatting ต้องออกแรงกดตัวเลขไม่ให้สูงกว่านี้ เป็นระยะต่อสู้ เพื่อลดการระบาด ลดความรุนแรงลง จะมีมาตรการต่างๆ ออกไป การดำเนินการให้กักตัวลดลง
– ระยะที่ 2 (เม.ย.-พ.ค.) เรียกว่า Plateau คือ การคงระดับผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงขึ้น ให้เป็นระนาบจนลดลงเรื่อยๆ
– ระยะที่ 3 (ปลาย พ.ค.-30 มิ.ย.) เรียกว่า Declining การลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงให้เหลือ 1,000-2,000 คน
– และอีกบวก 1 หรือระยะ 4 ตั้งแต่ 1 ก.ค. 65 เป็นต้นไป เรียกว่า Post pandemic คือ ออกจากโรคระบาด เข้าสู่โรคประจำถิ่น
ทั้งนี้ ประชาชนยังต้องปฏิบัติตามมาตรฐานป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด และการได้รับวัคซีนครบถ้วน รวมทั้งวัคซีนเข็มกระตุ้น เพี่อช่วยลดอัตราความรุนแรงของโรคได้
อ้างอิง : สำนักนายกรัฐมนตรี