สงขลา เน้นย้ำการ์ดอย่าตกปฏิบัติมาตรการแบบครอบจักรวาล หลังพบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้น
วันที่ 23 ก.พ. 65 นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ได้กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด -19 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อในครอบครัว และคนรู้จัก ขณะทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น รับประทานอาหารร่วมกัน เล่นกีฬา รวมทั้งจากการรวมกลุ่มกิจกรรมทางสังคม เช่น งานศพ งานแต่งงาน งานบุญ งานเลี้ยงสังสรรค์ต่าง ๆ ซึ่งขาดการกำกับมาตรการป้องกันโรคที่ดีจากผู้จัดกิจกรรม สำหรับผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่ม 608

ซึ่งได้แก่ ผู้สูงอายุ , ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง (โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง , โรคหัวใจและหลอดเลือด , โรคไตวายเรื้อรัง , โรคหลอดเลือดสมอง , โรคอ้วน , โรคมะเร็ง , โรคเบาหวาน) และหญิงตั้งครรภ์ รวมทั้งกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster dose) ฉะนั้นจังหวัดสงขลาขอความร่วมมือประชาชน “ยกการ์ดสูง” เพื่อป้องกันโรคโควิด -19
โดยยึดหลักการป้องกันแบบครอบจักรวาล (UP : Universal Prevention) ซึ่งถือเป็นมาตรการและเป็นการป้องกันโรคส่วนบุคคลขั้นสูงสุด ในทุกที่ตลอดเวลา ช่วยลดการแพร่เชื้อ ลดการป่วยและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 โดยมีแนวปฏิบัติดังนี้

1.ออกจากบ้านเมื่อจำเป็นเท่านั้น
2.เว้นระยะห่าง อย่างน้อย 1-2 เมตร ทุกสถานที่ทุกกิจกรรม
3.สวมหน้ากากอนามัยและทับด้วยหน้ากากผ้า ให้หน้ากากทั้งสองชั้นกระชับสนิทกับใบหน้า ปิดทั้งจมูกและปากตลอดเวลา เมื่ออยู่ในสถานที่มีมากกว่า 2 คน
4.ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง หลังสัมผัสวัตถุสิ่งของร่วมกัน ต้องคิดว่ามีคนอื่นที่ติดเชื้อสัมผัสหรืออาจสัมผัสมาแล้ว

5.หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสหน้ากากอนามัย หรือ หน้ากากผ้าที่สวมใส่อยู่ รวมทั้งใบหน้า ตา ปาก จมูกโดยไม่จำเป็น
6.ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง ให้เลี่ยงการออกนอกบ้านเว้นแต่จำเป็น ให้ออกนอกบ้านน้อยที่สุดและใช้ระยะเวลาสั้นที่สุด
7.ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้หรือสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพ

8.แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิด ไม่ควรใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
9.เลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ควรแยกรับประทานอาหาร หรือหากรับประทานอาหารร่วมกัน (สมาชิกในครอบครัว) ให้ใช้ช้อนกลางส่วนตัว
10.ถ้าหากท่านมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ควรแยกตัวจากผู้อื่นประมาณ 2 สัปดาห์ และตรวจเบื้องต้นด้วย ATK หลังการสัมผัสโรคประมาณ 3-5 วัน ถ้าไม่พบการติดเชื้อให้ตรวจซ้ำใน 3-5 วัน หรือ เมื่อมีอาการ
อ้างอิง : สาธารณสุขจังหวัดสงขลา