สนามบินเบตงแถลงข้อมูลสร้างเสร็จแล้วแต่เปิดใช้งานไม่ได้เพราะรันเวย์สั้น
จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูล เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง สนามบินเบตงสร้างเสร็จแล้วแต่เปิดใช้งานไม่ได้ เพราะรันเวย์สั้น เครื่องขึ้น-ลง ต้องใช้น่านฟ้าประเทศเพื่อนบ้าน ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย กรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน
วันที่ 5 ม.ค. 65 สนามบินเบตงเปิดเผยว่า การอนุมัติการก่อสร้างโดยรัฐบาลยุคพลเอกประยุทธ์ในปี 2558 งบประมาณ 1,900 ล้านบาท สร้างเสร็จมา 2 ปีกว่าแล้ว แต่เปิดใช้งานไม่ได้เพราะรันเวย์สั้น เครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ลงไม่ได้ เวลาเครื่องจะลงต้องตั้งลำเข้าไปในน่านฟ้าประเทศเพื่อนบ้าน และสนามบินไม่มีคลังน้ำมันสำหรับเครื่องบินนั้นโดยกรมท่าอากาศยาน ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวและชี้แจงข้อเท็จจริงว่า
กรมท่าอากาศยานได้ดำเนินการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตงวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการคมนาคมในพื้นที่ที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชันไม่สะดวกต่อการเดินทาง และเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งก่อนการดำเนินการก่อสร้างกรมท่าอากาศยาน ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ วิเคราะห์ข้อมูลทางกายภาพและทางเศรษฐศาสตร์ จึงได้ข้อสรุปในการก่อสร้างที่วางไว้คือ ทางวิ่ง (Runway) ขนาด 30×1,800 เมตร สามารถรองรับเครื่องบินขนาด 80 ที่นั่ง (ATR-72/Q-400)
ซึ่งตามหลักการดำเนินงานท่าอากาศยานจะมีการติดตามตัวเลขผู้โดยสารและเที่ยวบิน เพื่อนำมาวิเคราะห์ในการเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานต่างๆ โดยจะต้องมีระยะของการพัฒนาตามขนาดและความต้องการเดินทางของประชาชนและสำหรับเส้นทางบิน การขึ้นลงของอากาศยาน จะอยู่ในน่านฟ้าของประเทศไทยเท่านั้น ไม่มีล้ำเข้าไปในน่านฟ้าของประเทศเพื่อนบ้านแต่อย่างใด และขณะนี้ได้มีสายการบินขออนุญาตทำการบินไว้ 2 เส้นทาง คือ
1. หาดใหญ่-เบตง-หาดใหญ่
2. ดอนเมือง-เบตง-ดอนเมือง
ปัจจุบันท่าอากาศยานเบตงได้มีการให้บริการเที่ยวบินทางราชการ และเที่ยวบินส่วนบุคคล ซึ่งได้มีการทำการบินมาอย่างต่อเนื่องในส่วนของประเด็นเรื่องการให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานนั้น กรมท่าอากาศยานได้มีการหารือแนวทางร่วมกันกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยได้มีการวางแผนการลงทุนและแนวทางในการให้บริการในอนาคตซึ่งกรมท่าอากาศยานขอเรียนให้ทราบว่าจากข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่าการดำเนินงานของกรมท่าอากาศยานมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในความต้องการพัฒนาท่าอากาศยานให้สามารถรองรับการเดินทางทางอากาศของประชาชนได้อย่างเพียงพอ และครอบคลุมทุกความต้องการ รวมถึงเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมของประชาชนให้ทั่วถึงต่อไป
อ้างอิง : สนามบินเบตง