สงขลา ตัวเเทนเครือข่ายป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เข้าพบผู้ว่าฯ ขอให้ยุติการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นที่ชายหาด
วันที่ 28 ต.ค. 64 ตัวเเทนเครือข่ายประชาชนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืนจังหวัดสงขลา เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา โดยมีตัวเเทนหน่วยงานได้เเก่ เจ้าท่าส่วนภูมิภาคสาขาสงขลา โยธาธิการเเละผังเมืองจังหวัดสงขลา สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลเเละชายฝั่ง จ.สงขลา สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม เข้าร่วมโดยเครือข่ายภาคประชาชนฯ ได้ยื่นข้อเสนอ 3 ข้อต่อการเเก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจังหวัดสงขลา
ดังนี้ 1. ขอให้ยุติการดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นในพื้นที่ชายหาดของจังหวัดสงขลาต่อไปเรื่อยๆ และขอให้จำกัดความเสียหายของผลกระทบจากกำแพงกันคลื่นด้วยมาตรการอื่นๆที่เหมาะสม ไม่ใช่การสร้างโครงสร้างกำแพงกันคลื่นไปเรื่อย เนื่องจากบทเรียนที่ผ่านมาพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่า การสร้างกำแพงกันคลื่นต่อไปนั้นทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง และความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพย์สินของประชาชนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
2. ต้องผลักดันให้เกิดการใช้มาตรการชั่วคราว ที่สามารถรื้อถอนได้เมื่อผ่านมรสุมไป อย่างที่ปรากฏชัดเจนในหลายพื้นที่ชายหาดของประเทศไทยว่า การกัดเซาะชายฝั่งในหลายพื้นที่เกิดขึ้น เพียงชั่วคราว การใช้มาตรการชั่วคราว ที่เหมาะสมกับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นทางออกที่เหมาะสมเพื่อการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งชั่วคราวในช่วงมรสุม
3. รัฐบาลต้องส่งเสริม และผลักดันให้มีการใช้มาตรการที่เป็นมิตรกับชายหาด เช่น การเติมทราย การกำหนดแนวถอยร่น การรื้อถอนโครงสร้างป้องกันชายฝั่งที่ไม่จำเป็น และการป้องกันการกัดเซาะตามวิถีภูมิปัญญาดั้งเดิม เพื่อให้ชายฝั่งได้ฟื้นคืนและเกิดความสมดุล โดยที่มาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรชายฝั่ง
จากข้อเสนอ ทางผู้ว่าฯ ได้เเต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกัดเซาะชายฝั่ง โดยมีหน่วยราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเเละให้ตัวเเทนเครือข่ายประชาชนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ร่วมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ยืนยันว่า การเเก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ต้องจัดการอย่างยั่งยืน เเละให้สงขลามีชายหาด โครงการไหนที่ก่อให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ก็ต้องระงับ หรือยกเลิกไป หลังจากนี้ เครือข่ายประชาชนฯ จะร่วมกันติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิด
อ้างอิง : ตัวเเทนเครือข่ายป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง