สธ.สงขลา เตรียมเพิ่มเตียงรับผู้ป่วยโควิด-19 หลังผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
วันที่ 10 ต.ค. 64 นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ได้กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของจังหวัดสงขลา ขณะนี้ มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จังหวัดสงขลาได้บริหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วย ให้เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เพื่อลดอัตราการป่วยที่รุนแรงและป้องกันการเสียชีวิต ให้ผู้ป่วยรับการดูแลตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข

โดยมีโรงพยาบาลรัฐบาลที่รับรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 18 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 3 แห่ง, Hospitel (หอผู้ป่วยโควิด-19 เฉพาะกิจ ซึ่งใช้โรงแรมที่เข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนดเป็นที่รับการรักษาผู้ป่วย) 6 แห่ง , โรงพยาบาลสนาม 26 แห่ง และ CI (Community Isolation) หรือ ศูนย์กักรักษาในชุมชน 9 แห่ง โดยรวมมีจำนวนเตียงทั้งสิ้น 6,713 เตียง ขณะนี้ (นับถึงวันที่ 7 ต.ค. 2564 ) ใช้ไปแล้ว 6,221 เตียง เหลือเตียงรองรับผู้ป่วยอีก จำนวน 492 เตียง ทั้งนี้ การจะนำผู้ติดเชื้อไปรักษาที่ไหน จะพิจารณาจากอาการของผู้ป่วย ซึ่งจำแนกเป็นผู้ป่วยออกเป็น 3 ระดับหรือ 3 กลุ่มคือ
1) กลุ่มสีเขียว เป็นกลุ่มผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย
2) กลุ่มสีเหลือง คือผู้ป่วยอาการปานกลาง
3) กลุ่มสีแดง คือ ผู้ป่วยอาการรุนแรง

ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา มีนโยบายให้ รพ.หาดใหญ่ รพ.สงขลา และ รพ.สงขลานครินทร์ รับรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง , โรงพยาบาลสนาม และโรงพยาบาลเอกชน รับรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปานกลาง และสำหรับ Hospitel และ CI จะรับรักษาผู้ป่วยไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย ทั้งนี้ จังหวัดสงขลา มีผู้ป่วยอาการหนัก ร้อยละ 1.2 , มีอาการปานกลาง ร้อยละ 15 และ ร้อยละ 83.7 ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะเป็นผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย จึงได้วางแผนที่จะเปิด CI เพื่อขยายเตียงไปยังชุมชนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้โรงพยาบาลมีเตียงที่เพียงพอในรักษาผู้ป่วยที่มีอาการหนักต่อไป

อ้างอิง : สาธารณสุขจังหวัดสงขลา