จังหวัดสงขลา ได้รับการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์กว่า 44,000 โดส เตรียมฉีดให้นักเรียนนักศึกษา อายุระหว่าง 12-18 ปี
วันที่ 5 ต.ค. 64 นายแพทย์ปพน ดีไชยเศรษฐ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา เปิดเผยถึงแผนการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้กับนักเรียน นักศึกษา อายุระหว่าง 12-18 ปี ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเริ่มฉีดไปแล้วในวันที่ 4 ต.ค. 64 เป็นวันแรกว่า จังหวัดสงขลาได้รับการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ล็อตแรกสำหรับนักเรียนนักศึกษา อายุ 12-18 ปี จำนวน 44,480 โดส คิดเป็นร้อยละ 48 ของจำนวนผู้ประสงค์จะฉีดวัคซีน ซึ่งจะทยอยฉีดให้ครบภายใน 2 สัปดาห์ โดยเป็นการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ตามความสมัครใจที่ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง เบื้องต้นในพื้นที่จังหวัดสงขลา มีนักเรียนประสงค์ฉีดวัคซีนกว่า 90,000 คน คิดเป็นกว่าร้อยละ 80 จากทั้งหมดประมาณ 120,000 คน ซึ่งวัคซีนในส่วนที่เหลือทางกระทรวงสาธารณสุขจะส่งมาให้ในล็อตต่อไป
ในส่วนของการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 นั้น จะฉีดห่างกันประมาณ 3 สัปดาห์ คาดว่าจังหวัดสงขลาจะดำเนินการได้ร้อยละ 80 ขึ้นไป เพื่อให้ทันการเปิดภาคเรียนที่ 2 ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ส่วนข้อกังวลเรื่องภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบนั้น อัตราการเกิดผลข้างเคียงดังกล่าวต่ำมาก แต่หากมีอาการเจ็บหน้าอกข้างซ้าย หรือเหนื่อยง่าย ให้รีบมาพบแพทย์ พร้อมระบุว่า กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบสามารถหายได้เอง ถ้าจะเปรียบเทียบระหว่างผลข้างเคียงกับประโยชน์ของการฉีดวัคซีน ผู้ฉีดจะได้รับประโยชน์จากการฉีดวัคซีนมากกว่า เพราะหากไม่ได้รับการฉีดวัคซีนจะมีอันตรายจากการติดเชื้อได้ จึงอยากเชิญชวนประชาชนให้บุตรหลานมาฉีดวัคซีน เพื่อป้องกัน COVID-19
อ้างอิง : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา , สาธารณสุขจังหวัดสงขลา
Tue Oct 5 , 2021
จังหวัดสงขลา เร่งช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงตกค้างในกระชังพื้นที่ 5 อำเภอ วันที่ 5 ต.ค. 64 สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสงขลา นายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานประชุมคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตทางการเกษตรระดับจังหวัด เพื่อติดตามผลการดำเนินงานโครงการเชื่อมโยงการระบายจำหน่ายปลากะพงจังหวัดสงขลาในปี 2564 ซึ่งทางจังหวัดสงขลาได้ขอรับการจัดสรรเงินจ่ายขาดจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ดำเนินโครงการเชื่อมโยงการระบายจำหน่ายปลากะพงจังหวัดสงขลา ปี 2564 วงเงิน 12,360,000 บาท โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงในพื้นที่ 5 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอสิงหนคร อำเภอควนเนียง อำเภอเมืองสงขลา อำเภอจะนะ และอำเภอเทพา เพื่อระบายปลากะพงที่ยังคงตกค้างในกระชังของเกษตรกรเป็นจำนวนมาก และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายจํานวน 300 ตัน แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการและพ่อค้าคนกลางที่รับซื้อปลากะพงชะลอการรับซื้อหรือหยุดการรับซื้อ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงในพื้นที่จังหวัดสงขลาต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงกว่าราคาที่จำหน่ายได้ ทำให้มีปลากะพงตกค้างพร้อมจําหน่ายเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีปริมาณปลากะพงของเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการเชื่อมโยงการระบายจําหน่ายปลากะพงจังหวัดสงขลาปี 2564 ที่มีปริมาณปลาพร้อมจับในช่วงเดือนกันยายน – ธันวาคม 2564 จํานวน 670.7 ตัน พื้นที่ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นแหล่งเลี้ยงปลากะพงขาวที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสงขลา ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพหลักของชุมชนชาวเกาะยอ จังหวัดสงขลา โดยชาวบ้านที่ยึดอาชีพนี้จะใช้เครื่องมือประมงที่สืบทอดกันมายาวนาน และความได้เปรียบเชิงนิเวศทางธรรมชาติอันมาจากทะเลสาบสงขลา มีสภาพน้ำ 3 น้ำได้แก่ น้ำเค็ม น้ำจืด และน้ำกร่อย จึงทำให้ปลากะพงขาวที่เกาะยอ เป็นปลากะพงขาว 3 น้ำ มีรสชาติที่อร่อยกว่าที่อื่น แล้วถือเป็นโอกาสที่ชาวบ้านเกาะยอ สามารถเลี้ยงปลากะพงในกระชังได้อย่างมีคุณภาพ จัดเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดสงขลา อ้างอิง : สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสงขลา , สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา Facebook iconFacebookTwitter iconTwitterLINE iconLine