ม.อ. รับผู้ป่วยชุดแรก เข้าส่วนขยายโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ณ ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ
วันที่ 18 เม.ย. 64 รศ.นพ.เรืองศักดิ์ ลีธนาภรณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมด้วย รศ.นพ.พุฒิศักดิ์ พุทธวิบูลย์ ผู้อำนวยการส่วนขยายโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ฯ และรศ.พญ.มณฑิรา ตัณฑนุช ผู้บัญชาการฯ นำทีมแพทย์ พยาบาล พร้อมด้วยบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
รับผู้ป่วยชุดแรกเข้าสู่ส่วนขยายโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (SCCC) ภายในศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ : องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และศูนย์บ่มเพาะคนดี : มูลนิธิสวนประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โดยความร่วมมือขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา สวนประวัติศาสตร์ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา (สสจ.) โรงพยาบาลรัฐและเอกชนในจังหวัดสงขลา ซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยโควิด – 19 ที่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเล็กน้อยได้ประมาณ 80-100 เตียง
โดยผู้ป่วยในส่วนขยายโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จะเป็นผู้ป่วยใหม่ที่ยืนยันผลทดสอบเป็นบวก จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา และโรงพยาบาลต่างๆในสงขลา ซึ่งผู้ป่วยจะต้องมีอายุน้อยกว่า 50 ปี ไม่มีโรคประจำตัว เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ โรคของระบบหัวใจและหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน เป็นต้น และสามารถช่วยเหลือตัวเองในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้
พื้นที่ของส่วนขยายโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้มีการแยกโซนต่างๆไว้อย่างชัดเจน นับตั้งแต่ส่วนของศูนย์บัญชาการ ที่คอยทำหน้าที่ประสานงาน ลงทะเบียน จัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่สัมผัสกับผู้ป่วย ส่วนที่ 2 คือส่วนติดต่อประสานงาน จะเป็นพื้นที่การทำงานของแพทย์และพยาบาลในการดูแลผู้ป่วย ติดต่อกับผู้ป่วยผ่านกล้อง และรายงานผล ส่วนที่ 3 คือ ส่วนพักฟื้นผู้ป่วย มีการจัดห้องพักให้โล่งโปร่ง อากาศไหลเวียนดี สามารถทำความสะอาดได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีการแยกโซนสะอาดและโซนติดเชื้อไว้อย่างชัดเจน รวมถึงระบบบำบัดน้ำเสียที่ได้มาตรฐานของโรงพยาบาลอีกด้วย
นอกจากนี้ ทางคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มีการวางแผนร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา (สสจ.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวมถึงโรงพยาบาลรัฐและเอกชนในพื้นที่จังหวัดสงขลา เพื่อจัดเตรียมพื้นที่ภายในศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ให้เป็นโรงพยาบาลสนาม อีกแห่งหนึ่ง เพื่อรองรับผู้ป่วยจากพื้นที่ต่างๆในจังหวัดสงขลา โดยจะสามารถรับผู้ป่วยได้ประมาณ 200 เตียง (ขยายได้ 500-700 เตียง) ซึ่งคาดว่าจะพร้อมเปิดใช้ได้ภายใน วันที่ 23 เมษายน 2564 นี้ หากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น
อ้างอิง : สวท.สงขลา