เตรียมอนุมัติงบ 4,500 ล้านบาท สร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา-พัทลุง หลังศึกษาความเหมาะสมของ EIA
วันที่ 26 ม.ค. 64 ทางทีมข่าวหาดใหญ่ทูเดย์นิวส์ได้ลงพื้นที่เข้าร่วมประชุมฟังความคิดเห็น โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาที่จะเชื่อมกับจังหวัดพัทลุง-จังหวัดสงขลา เพื่อเป็นการลดระยะทางจาก 90 กิโลเมตร ให้เหลือแค่เพียง 10-15 กิโลเมตร และสามารถลดเวลาการเดินทางจาก 2 ชม. เหลือเพียง 10-15 นาที ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงข่ายถนนเชื่อมโยง เมืองจากฝั่งถนนเอเชีย (สาย 41) เข้าสู่ถนนเลียบชายทะเลอ่าวไทย บนถนนนครศรีธรรมราช-สงขลา (สาย 408)
รูปแบบสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาโครงสร้างสะพาน ประกอบด้วย
1) ส่วนของสะพานช่วงหลัก (Main Span) ที่มีความยาวช่วงสะพานยาวเป็นพิเศษมีความกว้างช่องลอดสุทธิเพื่อการเดินเรือไม่น้อยกว่า 120 เมตร และมีความสูงไม่น้อยกว่า18 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลสูงสุด โดยรูปแบบของสะพานช่วงหลัก คือ สะพานดานขึง (Extradosed Bridge) รูปแบบเสาใช้แนวคิดจากท่ารำโนราห์
2) ส่วนของสะพานช่วงต่อทั้งสองข้างของสะพานช่วงหลัก (Side Span) ซึ่งจะเป็นโครงสร้างส่วนใหญ่ของสายทางมีความยาวช่วงสะพานที่สั้นกว่า ซึ่งมีรูปแบบเป็นสะพานคานคอนกรีตรูปกล่องความหนาคงที่(Segmental Bridge) ช่วงสะพาน 40 เมตร
รูปแบบทางแยกของโครงการ
กำหนดเป็นทางแยกระดับพื้นแบบ 3 แยก สำหรับจุดเริ่มต้นโครงการและจุดสิ้นสุดโครงการ ถนนท้องถิ่นซึ่งเชื่อมต่อกับถนนโครงการทั้งสองฝั่งมีขนาด 2 ช่องจราจร (ไป 1 ช่องจราจร กลับ 1 ช่องจราจร) ช่องจราจรละ 3.50 เมตรไหล่ทางกว้างข้างละ 2.50 เมตร แบ่งทิศทางการจราจรด้วยการใช้เส้นสีจราจร
การออกแบบภูมิทัศน์
การจัดภูมิทัศน์ของโครงการ กำหนดให้มีตามแนวถนนต่อเชื่อมจากเชิงลาดสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาถึงทางแยกที่เชื่อมต่อกับถนนเดิม ทั้งบริเวณจุดเริ่มตันและจุดสิ้นสุดของโครงการ โดยจะเป็น การปลูกต้นไม้ ปลูกหญ้า จัดให้มีศาลาที่พักริมทาง ภายในเขตทางของโครงการและงานประติมากรรมโนราห์อยู่บริเวณทางแยก
ทั้งนี้การประชุมรับฟังความเห็นของประชาชน และการศึกษาความเหมาะสม ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นรายละเอียด EIA ของโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาที่จะเชื่อมกับจังหวัดพัทลุง-จังหวัดสงขลา ทางด้านหน่วยงานราชการในพื้นที่สงขลาไม่ว่าจะเป็น ด้านพาณิชยกรรม ด้านอุตสาหกรรม และประชาชนไม่มีการคัดค้านโครงการแต่อย่างไร อย่างไรก็ตามทางกรมทางหลวงชนบทที่ดูแลเรื่องโครงการนี้โดยตรงยืนยันอยากจะสร้างให้เสร็จภายใน 2 ปี เมื่อมีเหตุภัยพิบัติประชาชนสามารกใช้เส้นทางนี้อพยพประชาชนในพื้นที่จังหวัดสงลาให้สามารถเดินทางมายังจังหวัดพัทลุงได้รวดเร็วขึ้น พร้อมทั้งส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยวพื้นที่ริมทะเลสาบสงขลา
และเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่พี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมทะเลสาบทั้ง 2 จังหวัด