ผบ.ตร.เริ่มทดลองการตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ใช้กำลังตำรวจ 12 นาย พร้อมมาตรฐานในการปฏิบัติ
วันที่ 4 พ.ย. 63 เวลา 22.00 น. พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร., พล.ต.ท.ภัคพงศ์พงษ์เภตรา ผบช.น., พล.ต.ต.สหรัฐ ศักดิ์ศิลปะชัย รอง ผบช.น. และ พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. ได้เดินทาง มาตรวจการตั้งจุดตรวจทดลอง โดยมอบหมายให้กองบังคับการตำรวจนครบาล 5 มี พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ ผบก.น.5 ควบคุมการปฏิบัติ โดยการตั้งจุดตรวจทดลองวันนี้จะเป็นการตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ ทำการตั้งจุด ตรวจบริเวณหน้าสถานีตำรวจ ซึ่งมีแนวทางการปฏิบัติที่สำคัญ ดังนี้
1. หลักการและแนวทางในการตั้งจุดตรวจ
1.1 การตั้งจุดตรวจต้องได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชา ตั้งแต่ระดับ ผบก.ขึ้นไป
1.2 การตั้งจุดตรวจต้องมีแผนการปฏิบัติที่ขัดเจน
1.3 จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ต้องมีป่ายแสดงถึงมาตรฐานการตรวจวัดแอลกอฮอล์ ตั้งไว้ตรงบริเวณใกล้โต๊ะตรวจวัดฯ ในลักษณะที่ผู้รับการตรวจวัดฯ มองเห็นได้ชัดเจน
1.4 การกำหนดสถานที่ตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ ต้องกำหนดมาจาก
(1) ข้อมูลผู้กระทำความผิดเมาแล้วขับในเขตพื้นที่
(2) สถิติการเกิดอุบัติเหตุ สาเหตุมาจากเมาแล้วขับ
(3) สภาพการจราจร ความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนและเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นสำคัญ
(4) ความสะดวก มีที่จอดยานพาหนะของผู้ขับขี่ มีไฟฟ้าสำหรับใช้ที่จุดตรวจฯ เช่น สำหรับกล้องวงจรปิด สัญญาณไฟวับวาบ และเครื่องพิมพ์ผลการตรวจ เป็นต้น
1.5 จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ต้องมีแผงกั้นที่มีเครื่องหมายการจราจรว่า “หยุดตรวจ” โดยให้เป็นไปตามมาตรฐานที่จุดตรวจ และในเวลากลางคืนจะต้องมีแสงไฟส่องสว่างให้มองเห็นได้อย่างชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตรและก่อนถึงจุดตรวจให้มีแผ่นป้ายแสดงยศ ชื่อ นามสกุล และตำแหน่ง ของหัวหน้าต่านตรวจ หรือจุดตรวจดังกล่าว
1.6 การสื่อสารกับประชาชนในการบังคับใช้กฎหมาย ต้องมีการอธิบายข้อกฎหมายให้ผู้กระทำผิดเข้าใจ ข้อกล่าวหา โดยใช้กิริยาวาจาที่สุภาพ
1.7 การตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ให้ปฏิบัติตามมาตรการการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจและจุดสกัด ตามที่ ตร.ได้เคยสั่งการไว้อย่างเคร่งครัด
2. การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้
2.1 บันทึกข้อมูลการตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ตามแผนการปฏิบัติ ลงในระบบการจัดทำแผนการตั้งจุดตรวจกวดขันวินัยจราจร (Police Traffic Checkpoint Control)
2.2 ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ทุกนาย บันทึกการปฏิบัติหน้าที่ด้วยกล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหว เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในการปฏิบัติหน้าที่ และเพื่อยืนยันหลักความโปร่งใสการตรวจสอบได้
2.3 การตรวจวัดแอลกอฮอล์ ให้มีการตรวจเบื้องต้นและแบบยืนยันผล และต้องบันทึกการตรวจทั้งสองแบบด้วยกล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหว แบบดิจิตอลชนิดใส่ซิมเน็ต เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาสามารถตรวจสอบได้แบบ real time
3. แนวทางการปฏิบัติเพื่อป้องกันการทุจริต
3.1 จัดโต๊ะสำหรับตรวจวัดแอลกอฮอล์แบบยืนยันผลให้มีแสงสว่างมากพอ เป็นสถานที่เปิดเผย ป้องกันความเคลือบแคลงสงสัยจากประชาชน
3.2 มีป้ายไว้ตรงบริเวณจุดตรวจวัดฯ มีข้อความว่า “จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ สน./สภ… มีการ
บันทึกภาพเคลื่อนไหวแบบดิจิตอลไว้เป็นหลักฐาน เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นมาตรฐานสากล”
3.3 เมื่อเสร็จสิ้นการปฏิบัติแล้ว ให้หัวหน้าจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ รายงานผลการปฏิบัติเป็นลาย
ลักษณ์อักษรเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น
3.4 ให้หัวหน้าสถานีตรวจสอบข้อมูลการตรวจที่พิมพ์จากเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ ตามข้อ 3.3 หาก
พบข้อมูลผิดปกติ ให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบต่อไป
3.5 ให้หัวหน้าสถานีตำรวจจัดทำระบบจัดเก็บไฟล์ภาพเคลื่อนไหวแบบดิจิตอลการตรวจวัดแอลกอฮอล์
เพื่อป้องกันการร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจวัดฯ ในภายหลัง
3.6 จัดให้มีแผ่นป้ายแสดงข้อความว่า “หากพบเจ้าหน้าที่ทุจริต หรือประพฤติมิชอบให้แจ้งผู้บังคับ
การ โทร.(ให้ใส่หมายเลขโทรศัพท์มือถือของ ผบก.ไว้) หรือ แจ้งร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ สายด่วน หมายเลข 1599″ ข้อความดังกล่าวข้างต้นให้มองเห็นได้อย่างชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 15 เมตร
เมื่อคณะได้ทำการตรวจสอบการตั้งจุดตรวจทดลองในครั้งนี้แล้ว จะทำการพิจารณาเพื่อสรุปข้อมูลว่าการ
ตั้งจุดตรวจดังกล่าว เป็นไปตามแนวทางของ ผบ.ตร.ที่ได้มอบนโยบายไว้หรือไม่ ซึ่งหากเป็นไปตามแนวทาง จะได้นำเสนอ เพื่อกำหนดเป็นแนวทางในการตั้งจุดตรวจ เพื่อให้ทุกหน่วยในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติ
อ้างอิง : สำนักงานตำรวจแห่งชาติ