สาธารณสุขจ.สงขลา ประกาศเตือนโรคมือ เท้า ปาก สำหรับสุขภาพเด็กเล็กย้ำผู้ปกครองและสถานศึกษาโปรดระมัดระวัง
นายแพทย์อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ในช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝน และสถานศึกษาและศูนย์เด็กเล็กมีการเปิดภาคเรียนมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งการทำกิจกรรมที่รวมกันเป็นกลุ่มทำให้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคมือ เท้า ปากและโรคโควิด 19 ได้ง่าย โดยเฉพาะในสถานที่ที่เด็กอยู่รวมกันมาก ๆ เช่น ศูนย์เด็กเล็กสถานรับเลี้ยงเด็ก สำหรับโรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มแอนเทอโรไวรัส(Enterovirus) พบมากในทารกและเด็กเล็ก ติดต่อโดยการได้รับเชื้อทางปากโดยตรงโดยเชื้อไวรัสจะติดมากับมือ หรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย และอาจเกิดการไอ จาม รดกัน โดยเฉพาะสัปดาห์แรก หลังได้รับเชื้อจะเริ่มแสดงอาการโดยมีไข้ อ่อนเพลีย เจ็บปากและเบื่ออาหาร มีแผลอักเสบที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม อาจเกิดตุ่ม ผื่นแดงที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ก้น หรือหัวเข่า ไม่คันแต่เวลากดจะเจ็บ ต่อมาจะแตกออกเป็นหลุมตื้น ๆ อาการจะดีขึ้นและแผลหายไปใน 7 -10 วัน
สำหรับสถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ประเทศไทยตั้งแต่วันที่ วันที่ 1 มกราคม – 29 กรกฎาคม 2563 พบผู้ป่วย 6,812 ราย โดยพบมากที่สุดในเด็กแรกเกิด – 4 ปี (ร้อยละ82.56) รองลงมาคืออายุ 7-9 ปี และอายุ 5 ปี ตามลำดับ ไม่พบผู้เสียชีวิต จังหวัดสงขลาพบผู้ป่วยจำนวนทั้งสิ้น 802 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 56.92 ต่อประชากรแสนคน ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือเด็กแรกเกิด – 4 ปี คิดเป็นอัตราป่วย754.12 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5 – 9 ปี , 10 – 14 ปีตามลำดับอำเภอที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุดคืออำเภอกระแสสินธุ์ (อัตราป่วยเท่ากับ102.56) รองลงมาคือคลองหอยโข่ง และเทพาตามลำดับ
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา ขอความร่วมมือศูนย์เด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาล และผู้ปกครอง ดูแลสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ โดยมีแนวปฏิบัติ ดังนี้
1.ให้ผู้ปกครองคัดกรองอาการของเด็กก่อนมาสถานศึกษา หากเด็กไม่สบายหรือมีไข้ ควรพาไปพบแพทย์และให้พักอยู่ที่บ้าน
2.ให้เด็กสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย
3.หมั่นทำความสะอาดของใช้ ของเล่นและพื้นที่ที่เด็กใช้ร่วมกันเป็นประจำ เพื่อลดเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม
4.หมั่นให้เด็กล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และหลังเล่นของเล่น เพื่อลดเชื้อสะสมบนมือและลดการแพร่สู่ผู้อื่น
5.จัดให้มีพื้นที่ในการเข้าแถวทำกิจกรรม หรือเล่นเป็นกลุ่มย่อยจำนวน 5-6 คน มีการเว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร
6.หากพบเด็กป่วยขอให้แยกออกจากเด็กปกติและแจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน แยกของใช้ส่วนตัวเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ และไม่ควรคลุกคลีกับคนอื่น ๆ ในครอบครัวหรือชุมชน
หากสงสัยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขโทร.1422
อ้างอิง : สวท.สงขลา