
สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ม.อ. ต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมวิสาหกิจผ้า นำรายได้สู่ชุมชน
สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อช่วยเหลือสังคมและชุมชนจากการได้รับผลกระทบวิกฤตการณ์โควิด 19 ภายใต้โครงการอบรมพัฒนาวิชาชีพและการเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจผ้าและเครื่องแต่งกายภาคใต้ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ หารายได้สู่ครัวเรือน ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์เป็นงานอดิเรก สามารถนำไปถ่ายทอดตลอดจนสร้างรายได้ให้กับผู้เข้ารับการอบรมต่อไป
กิจกรรมที่จัดขึ้น ณ อาคารศูนย์ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา (หาดใหญ่) ได้แก่ การทำผ้าบาติกเขียนเทียน จัดอบรมวันที่ 11-12 กรกฎคม 2563 โดยวิทยากร นายไพฑูรย์ แก้วทอน เจ้าหน้าที่สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา โดยที่ผ่านมานั้นได้เริ่ม กิจกรรมการทำผ้าบาติกแม่พิมพ์ จัดอบรมวันที่ 17-18 กรกฎคม 2563 โดยวิทยากร นายวิษณุ เลิศบุรุษ และนางสาวนิศารัตน์ ศิริกาญจน์ เจ้าหน้าที่สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ต่อมากิจกรรมการทำผ้ามัดย้อมคราม จัดอบรมวันที่ 19 กรกฎคม 2563 โดยวิทยากร ดร.ชนกิตติ์ ธนะสุข และนางสาวนราวดี โลหะจินดา เจ้าหน้าที่สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา
ต่อมายังได้อีก 1 กิจกรรม คือ ส่งเสริมการตลาดการเพิ่มคุณค่าและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ที่จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 1 กันยายน 2563 ณ อาคารศูนย์ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา (หาดใหญ่) เพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้า สร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อขยายตลาดในการจําหน่ายสินค้าและปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและสภาพทางการตลาดในปัจจุบัน
ทางด้าน ผศ.ดร.พรปวีณ์ พุ่มเกิด ผู้อำนวยการสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กล่าวว่า สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา (หาดใหญ่) มีพิพิธภัณฑ์ผ้าทอภาคใต้ เป็นฐานข้อมูลสำหรับการศึกษาเพื่อต่อยอดการทำผลิตภัณฑ์จากผ้าท้องถิ่น ผสมผสานกับวัสดุธรรมชาติจากท้องถิ่นในรูปแบบต่างๆ ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ เช่น หมวก กระเป๋า เครื่องประดับ เครื่องแต่งกายแฟชั่น ถุงผ้าเก็บความเย็น ฯลฯ การส่งเสริมเทคนิคการขายตลาดออนไลน์ การซื้อ- ขาย ชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-payment สามารถส่งเสริมอาชีพเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการผ้าและเครื่องแต่งกายรายเดิม และรายใหม่ได้เป็นอย่างดี
ดังนั้นการจัดอบรมพัฒนาวิชาชีพและการส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจผ้าและเครื่องแต่งกาย ด้วยกระบวนการถ่ายทอดความรู้ การทำผ้าลักษณะต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม การต่อยอดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการส่งเสริมความรู้ด้านการตลาด การสื่อสารการตลาด ตลาดสดออนไลน์ จะเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ ต่อยอดเศรษฐกิจจากทุนวัฒนธรรมภาคใต้ และเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติมจาก : สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์