สำนักจุฬาราชมนตรี ออกประกาศการปฏิบัติศาสนกิจละหมาดอีฎิ้ลอัดฮา การเชือดสัตว์พลีทาน (กุรบาน) ภายใต้มาตรการโควิด-19
ซึ่งวันอีฎิ้ลอัดฮา ฮ.ศ.1441 ตรงกับวันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 “อีดิ้ลอัฎฮา” ภารกิจการทำฮัจญ์ ศูนย์รวมแห่งศรัทธามุสลิมทั่วโลกซุลหิญญะฮฺ
เป็นเดือนสุดท้ายของปีฮิญเราะฮฺศักราชหรือปฏิทินอิสลาม หมายถึง เดือนแห่งการทำฮัจญ์ ซึ่งบรรดามุสลิมทั่วโลกที่มีความสามารถไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครมักกะฮฺประเทศซาอุดิอารเบียและมุสลิมทุกคนรอคอยการมาเยือนของวัน อีดิ้ลอัฎฮา(ฮารีรายอหะยี) ดังนั้นเดือนนี้จึงเป็นเดือนที่ยิ่งใหญ่และ ประเสริฐอีกเดือนหนึ่ง เดือนนี้มุสลิมผู้เคร่งศาสนาโดยเฉพาะผู้สูงอายุชาวใต้ที่ไม่มีโอกาสไปทำฮัจญฺ์ก็ จะปฏิบัติศาสนกิจพอสรุป ได้ดังต่อไปนี้
1- ถือศีลอด 9 วันแรกของเดือนซุลหิญญะฮฺ 9 วันแรกของเดือนซุลหิญญะฮฺ ศาสดามุฮัมมัดทรงมีวจนะความ ว่า: “ได้มีรายงานจากท่าน อิบนิอับบาส (อัครสาวกศาสดา)ว่า ท่านศาสดาได้กล่าวว่าวันซึ่งอัลลอฮฺเจ้าทรงอภัยโทษแก่ศาสดาอาดัมก็ คือ
วันที่ 1 ของเดือนซุลหิญญะฮฺ ผู้ใดที่ทำการถือศีลอดในวันดังกล่าว อัลลอฮฺจะทรงอภัยโทษบาปทั้งหมดของเขา
วันที่ 2 อัลลอฮฺทรงรับการขอพรของศาสดายูนุส โดยอัลลอฮฺทรงนำท่านศาสดายูนุสออกมาจากท้องปลาวาฬ ผู้ใดถือศีลอดในวัน ดังกล่าว เขาจะเปรียบเสมือนทำความดีต่ออัลลอฮฺ 1 ปี โดยมิได้ฝ่าฝืนบัญญัติของอัลลอฮฺ ในการทำความดีของเขาแม้ชั่วพริบตาเดียว
วันที่ 3 อัลลอฮฺทรงรับการขอพรจากศาสดาซาการียา อลัยฮิสลาม ผู้หนึ่งผู้ใดถือศีลอดในวันดังกล่าว อัลลอฮฺจะทรงรับการขอพรของเขา
วันที่ 4 เป็นวันที่ศาสดาอีซา อลัยฮิสลาม ทรงประสูติ ผู้หนึ่งผู้ใดถือศีลอดในวันนี้ อัลลอฮฺจะทรงทำให้ความเศร้าโศกเสียใจ และความยากจนหมดไปและในวันสิ้นโลกเขาจะอยู่ในกลุ่มของนักเดินทางผู้มีคุณธรรมและทรงเกียรติ
วันที่ 5 เป็นวันที่ศาสดามูซา อลัยฮิสลาม ทรงประสูติ ผู้ใดถือศีลอดในวันดังกล่าว เขาจะบริสุทธิ์จากการเป็นมุนาฟิก(หน้าไหว้หลังหลอก) และพ้นจากการลงโทษในสุสาน
วันที่ 6 เป็นวันซึ่งอัลลอฮฺ ทรงประทาน ความดีให้แก่ท่านศาสดามุฮัมมัด ผู้หนึ่งผู้ใดทำการถือศีลอดในวันดังกล่าว อัลลอฮฺจะทรงทอดพระเนตรมายังเขาด้วยความเมตตา ฉะนั้นเขาจะไม่ถูกลงโทษหลังจากนั้นตลอดไป
วันที่ 7 คือ วันที่ประตูนรกถูกปิดและมันจะไม่ถูกเปิด จนกระทั่งวันที่ 10 ของเดือนซุลหิญญะฮฺล่วงเลยไป ผู้ใดที่ถือศีลอดในวันนี้อัลลอฮฺจะทรงปิดสามสิบประตูแห่งความยุ่งยาก และเปิดสามสิบประตูแห่งความสะดวกง่ายดายแก่เขา
วันที่ 8 ซึ่งถูกขนานนามว่าวัน “ตัรวียะฮฺ” ผู้ใดถือศีลอดในวันนี้ อัลลอฮฺ จะทรงตอบแทนความดี ซึ่งไม่มีผู้ใดรู้นอกจากอัลลอฮฺ
วันที่ 9 คือ วันอะรอฟะฮฺ ผู้ใดถือศีลอดในวันนี้ อัลลอฮฺจะทรงลบล้างความผิดต่างๆ ในปีที่ผ่านมาและปีต่อไป”
2- วันอีดิ้ลอัฎฮา ตรงกับวันที่ 10 เดือนซุลฮิญญะห์ วันตรุษอีดิ๊ลอัฎฮาเป็นคำภาษาอาหรับ มาจากคำว่า
อีด แปลว่า รื่นเริง เฉลิมฉลอง และ
อัฎฮา แปลว่า เชือดสัตว์พลีทาน
ดังนั้น วันตรุษอีดิ๊ลอัฎฮา จึงหมายถึง วันเฉลิมฉลองการ เชือดสัตว์เพื่อพลีทาน
ภารกิจและข้อควรปฏิบัติในวันตรุษาอีดิลอัฎฮา (ซึ่งคล้ายกับวันอีดิ้ลฟิตรี)
ก. ภารกิจก่อนละหมาด
1) การตักบีร (สรรเสริญความยิ่งใหญ่ต่ออัลลอฮ์ตลอดเวลา) ดังที่อัลลอฮ์ได้ดำรัสในอัลกุรอ่าน ความว่า “และท่านทั้งหลายจงกล่าวตักบีร อย่างกึกก้องต่อพระองค์” (ซูเราะห์อัลอิสรอ อายะที่ 111)
2) อาบน้ำและทำความสะอาดร่างกายก่อนสวมใส่เสื้อผ้าไปยังสถานที่ละหมาด พร้อมทั้งขจัดขนของอวัยวะเพศ ขนรักแร้ ตัดเล็บ และขจัดกลิ่นกาย (โปรดดูบันทึกอีหม่ามมาลิก 1/177 และอีหม่ามซาฟีอี ในหนังสือมุสนัด หมายเลข 88)
3) แต่งกายด้วยอาภรณ์ที่สวยงาม พร้อมทั้งใช้น้ำหอมยกเว้นสตรี
4) รับประทานอาหารเบา ก่อนที่จะไปละหมาด (ดังที่อีหม่ามตัรมีซีย์ ได้บันทึกไว้ในหนังสือฮาดิษของท่าน หมายเลข 542)
1.ไปยังสถานที่ละหมาดตั้งแต่เช้า โดยเฉพาะมะมูม (ผู้ตามละหมาด) ด้วยวิธีดังต่อไปนี้ (สมควรแต่ไม่ใช่เป็นการบังคับ)
– ออกไปและกลับด้วยการเดินเท้า
– การเดินไปและกลับจากการละหมาดควรใช้เส้นทางต่างกัน
2.กล่าวสรรเสริญความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮ์ ตลอดเวลาขณะเดินทาง
ทิศทางการละหมาดมุสลิมทั่วโลกจะหันหน้าไปทาง นครมักกะฮฺ โดยมีศูนย์กลาง ณ ที่ตั้งหินกาบะ ซึ่งมุสลิมจากทั่วโลกเดินทางไปร่วมพิธีฮัจ
ข. ภารกิจหลังละหมาดอีด
ทุกคนต้องฟังคุตบะห์ (ฟังธรรมเทศนา) จากนั้นทุกคนต่างก็แสดงความยินดีปรีดาต่อกัน ขออภัยต่อกันในสิ่งที่ได้ล่วงละเมิด ทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม จากนั้นควรบริจาคทานกับเด็ก คนชรา หรือใครๆ ก็ได้ ที่ตัวเองประสงค์จะทำทาน ออกไปเยี่ยมเยียนซึ่งกันและกัน อาจจะจัดกิจกรรมบนเวทีให้กับเด็กๆ เพื่อมอบความสุขให้กับเขาเหล่านั้นและที่สำคัญทีสุดคือ เชือดสัตว์พลีทาน (กุรบ่าน) ผู้ที่อยู่ในฐานะที่จะทำได้ ไม่ควรละเลยข้อปฏิบัตินี้อย่างน้อยก็สักครั้งหนึ่งในชีวิตจากท่านอิบนี่อับบาสเล่าว่า ท่านรอซู้ลลุลเลาะฮ์หรือศาสดาทรงกล่าวว่า ในวันอีดิ้ลอัฎฮาไม่มีการภักดีใดๆของมนุษย์จะเป็นที่โปรดปรานรักใคร่ของอัล ลอฮ์ ดียิ่งไปกว่าการทำกุรบ่าน
กำหนดเวลาการทำกุรบ่าน
เริ่มเชือดกุรบ่านได้ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นของเช้าวันอีดิลอัฎฮา(หลัง ละหมาด) จนถึงเวลาละหมาดอัสรีของวันที่ 4 ของวันอีดรวม 4 วัน (วันอีด 1 วันตัสริก 3 วัน ) แต่ระยะเวลาที่ดีเยี่ยมควรเชือดกุรบ่าน คือหลังจากเสร็จการละหมาดอีดิลอัฎฮาแล้ว การเชือดควรให้เจ้าของเป็นผู้เชือดเองหากจะมอบให้ผู้อื่นเชือดก็ควรดูการ เชือดด้วย
วันตัชรีก ( 3 วันหลังจากวันอีดอัฎฮา)เป็นวันแห่งการทำภารกิจศาสนาหลังการทำฮัจญ์ สำหรับผู่ที่มิได้ทำฮัจญ์ ถือเป็นอีกสามวัน เพื่อการทำกุรบาน และยังถือว่าเป็นช่วงของวันอีดของมุสลิม
สัตว์ที่ใช้ทำกุรบ่าน คือ อูฐ วัว ควาย แพะ แกะ กีบัช อูฐ ต้องมีอายุ 5 ปีบริบูรณ์ ใช้ทำกุรบ่านได้ 7 ส่วน ดังนั้น จึงรวมกันทำ 7 คน/อูฐตัวเดียวก็ได้ หรือจะทำคนเดียวก็ยิ่งดี
วัว ควาย ต้องมีอายุ 2 ปีบริบูรณ์ ทำกุรบ่านได้ 7 ส่วน
แพะ ต้องมีอายุ 2 ปีบริบูรณ์ ทำกุรบ่านได้ 1 ส่วน
แกะและกิบัช ต้องมีอายุ 1 ปีบริบูรณ์ หรือเปลี่ยนฟันแล้ว ทำกุรบ่านได้ 1 ส่วน
สัตว์จะทำกุรบ่าน ต้องอ้วนสมบูรณ์ปราศจากสิ่งตำหนิหรือโรค ควรมีลักษณะสวยงามสง่า
สัตว์ที่ห้ามทำกุรบ่านไม่ได้ ได้แก่ สัตว์ที่เป็นโรค หรือพิการหรือไม่สมประกอบ เช่น ตาบอด หูแหว่ง เขาหัก ไม่มีฟัน แคระแก่น มีท้อง
เนื้อสัตว์ที่ทำกุรบ่านนั้น ให้แจกจ่ายแก่คนยากจนและเพื่อนบ้าน ควรเก็บไว้กินเองเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
นี่คือภาพรวมของภารกิจหรือวิถีมุสลิมภาคใต้กับเดือนซุลหิญญะฮฺ(เดือนแห่งการทำฮัจญ์)
ตามที่รู้กันว่าวันสำคัญทางศาสนาอิสลามที่นับว่าสำคัญที่สุดมี 2 วัน คือ อีดิลฟิตริ์ และ อีดิลอัฎฮา เป็นวาระแห่งการเฉลิมฉลองของมุสลิม โดย
อีดิลฟิตริ์ เป็นการเฉลิมฉลองหลังเสร็จสิ้นการถือศีลอดในเดือนรอมะฎอน
ส่วนอีดิลอัฎฮา เป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสทำฮัจญ์และกุรบาน
อีดิลอัฎฮา หรือบางคนเรียกว่า อีดิลกุรบาน ตรงกับวันที่ 10 เดือนซุลหิจญะห์ (เดือนที่ 12 ตามปฏิทินอิสลาม) ซึ่งเป็นเดือนที่มุสลิมเดินทางไปทำฮัจญ์ที่นครมักกะห์ กิจกรรมสำคัญประจำวันอีดนี้คือการเชือดสัตว์พลีเพื่ออัลลอฮ สัตว์ที่เชือดได้แก่ แพะ แกะ วัว หรืออูฐ สัตว์ที่เชือดเรียกว่า “อุฎฮิยะห์” ตามภาษาที่ใช้ในนิติศาสตร์อิสลาม จึงเป็นที่มาของชื่อ อีดิลอัฎฮา ส่วนที่เรียกว่า กุรบาน ก็เนื่องจากการเชือดสัตว์นี้เป็นการกระทำเพื่อความใกล้ชิดพระเจ้า
อ้างอิง : สำนักจุฬาราชมนตรี