ม.อ. รุกพื้นที่ EEC ผนึกพันธมิตร 7 บริษัท พัฒนากำลังคนยกอุตสาหกรรมในประเทศ
เมื่อวานนี้(24/7/63) ณ บริษัทวงษ์พาณิชย์ (สาขาเวลโกรว์) จำกัด จังหวัดฉะเชิงเทรา มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างศูนย์พัฒนานวัตกรรมด้านการบริหารจัดการ (Management Innovation Development Center: MIDC) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีรวัฒน์ หังสพฤกษ์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ และกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่ EEC ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมรีไซเคิลขยะและของเสีย และอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ ซึ่งประกอบด้วย บริษัทในเขตพื้นที่ EEC 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง จำนวน 7 บริษัท ได้แก่ บริษัท พาโช่ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัทยูนิคัล เวิร์คส์ จำกัด, บริษัท วงษ์พาณิชย์ (สาขาเวลโกรว์) จำกัด, บริษัท เอส พี วี ทรานสปอร์เทชั่น จำกัด, บริษัท เอ.ที.เอ็น. คาสติ้ง จำกัด, บริษัท อินโนวาแกนซ์ จำกัด และบริษัท ไทยเฮิร์บ โกลบอล กรุ๊ป จำกัด เพื่อร่วมมือกันในการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจในพื้นที่ EEC ให้ก้าวไปสู่การเป็นธุรกิจที่มีความเข้มแข็ง ยั่งยืน ยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ในระยะยาว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีรวัฒน์ หังสพฤกษ์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะที่มีบทบาทเป็นกลไกหลักในการพัฒนาภาคใต้และประเทศ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพของธุรกิจในพื้นที่ EEC เพื่อสนับสนุนนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลที่มุ่งกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมแห่งอนาคต ซึ่งต้องมีการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานและกำลังคนป้อนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง (High Technology) รองรับนโยบาย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
โดยภายหลังจากการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะมีบทบาทในการแชร์ข้อมูลทางธุรกิจ และงานวิจัยที่มีการเผยแพร่ให้แก่บริษัท ตลอดจนการรับโจทย์วิจัยจากบริษัทเพื่อให้คณาจารย์และ นักศึกษาร่วมกันแก้ไขปัญหาและให้แนวทางในการพัฒนาแก่บริษัท รวมถึงการฝึกอบรมความรู้ด้านการบริหารจัดการให้แก่บุคลากรของบริษัท
ทั้งนี้ในส่วนของบริษัทเองจะมีบทบาทในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) ต่อมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้แก่ การสนับสนุนด้านวิทยากรให้แก่นักศึกษา เพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน การรับนักศึกษาเข้าฝึกประสบการณ์วิชาชีพและ สหกิจศึกษาเพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ทางวิชาการและวิชาชีพ เป็นสถานที่ศึกษาดูงานด้านการผลิตและการบริหารจัดการแก่นักศึกษาและคณาจารย์ การร่วมมือกันในการพัฒนาหลักสูตรระยะสั้นและการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์ เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพของอุตสากรรมในพื้นที่ EEC และพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทยต่อไปในอนาคต
อ้างอิง : สวท.สงขลา