อธิบดีกรมการค้าภายใน เดินหน้าเร่งช่วยเหลือปัญหาเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงในพื้นที่จังหวัดสงขลา
เมื่อวานนี้ (19/6/63) อธิบดีกรมการค้าภายในเดินหน้าเร่งช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงในพื้นที่จังหวัดสงขลา หลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรค COVID-19 พร้อมชูมาตรการเพิ่มช่องทางและเชื่อมโยงการจำหน่ายปลากะพง เนื่องจากจังหวัดสงขลาเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงปลากะพงขาวขนาดใหญ่ มีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง จำนวน 19 กลุ่ม ในพื้นที่อำเภอเมือง, อำเภอสิงหนคร, อำเภอบางกล่ำ, อำเภอควนเนียง, อำเภอจะนะ, อำเภอเทพา และ อำเภอสะบ้าย้อย กว่า 700 ราย และมีการคาดการณ์ปริมาณผลผลิต ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงกรกฏาคม รวมจำนวนกว่า 500 ตัน การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงได้รับผลกระทบไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ ทำให้มีปลากะพงเหลือค้างในพื้นที่เป็นจำนวนมาก
ที่ห้องประชุม 1 ศาลากลางจังหวัดสงขลา นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธานการประชุมหลักเกณฑ์ วิธีการและแนวทางการดำเนินงานโครงการเชื่อมโยงการระบายจำหน่ายปลากะพง จังหวัดสงขลา ปี 2563 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยมีนายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นางสาวฉัตร์สุดา ชุมแสง พาณิชย์จังหวัดสงขลา นายวิชัย ศรีสมโภชน์ เกษตรจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยผู้แทนประมงอำเภอและเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพง เข้าร่วมประชุม
โดยกรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์ ได้รับการสนับสนุนเงินจ่ายขาดจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร วงเงิน 26,780,000 บาท เพื่อนำไปดำเนินการระบายปลากะพงส่วนเกินและ เพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงในจังหวัดสงขลา ตามโครงการเชื่อมโยงการระบายจำหน่ายปลากะพงจังหวัดสงขลา ปื 2563 ปริมาณเป้าหมาย 650 ตัน ในอัตรากิโลกรัมละ 130 บาท หรือตันละ 130,000 บาท และดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน ซึ่งแบ่งวงเงินออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย วงเงิน 26 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเป็นค่าชดเชยส่วนต่างและ ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ อาทิ ค่าจัดการแปรสภาพ ค่าจัดการด้านคุณภาพค่าเก็บรักษา คำบรรจุภัณฑ์ค่าขนส่ง ในอัตราไม่เกินกิโลกรัมละ 40 บาท และวงเงิน 780,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของส่วนราชการที่เป็นหน่วยงานดำเนินการตามโครงการฯ ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 3 ของวงเงินดำเนินการ ภายใต้หลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางการบริหารจัดการกระจายปลากะพงจังหวัดสงขลากำหนด
ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้กล่าวเชิญชวนให้ประชาชนร่วมอุดหนุนสินค้าและซื้อปลากะพงเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร เพราะจังหวัดสงขลาถือได้ว่าเป็นแหล่งผลิตปลากะพงที่อร่อยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าและ ส่งผลให้ราคาที่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงได้รับปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ มั่นใจว่าหลังจากสถานการณ์คลี่คลายความต้องการในการบริโภคสินค้าจะกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้น ขอให้เกษตรกรปรับตัวเพื่อให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตนี้ไปให้ได้
อ้างอิงรูปภาพ : ประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา
ทั้งนี้ท่านสามารถติดตามรายงานสถานการณ์โควิด-19 ได้ในแบบเรียลไทม์