สธ.สงขลา เชิญชวนผู้ปกครองนำเด็กอายุ 6 เดือน – 4 ปี เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19
วันที่ 11 ต.ค. 65 นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 โรคโควิด 19 ได้ปรับจากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การควบคุมโรคประสบความสำเร็จ คือการฉีดวัคซีนโควิด 19 และได้ขยายการฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 6 เดือน – 4 ปี เนื่องจากปัจจุบันเด็ก 6 เดือน – 4 ปี เป็นกลุ่มเดียวที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และพบว่าช่วงของการระบาดของโอมิครอนเด็กกลุ่มนี้มีการป่วยและอัตราเสียชีวิตสูงกว่าเด็กโต 3 เท่า ประกอบกับเด็กช่วงวัยดังกล่าวยังไม่เคร่งครัดในการป้องกันตนเอง จึงจำเป็นต้องเพิ่มภูมิคุ้มกันให้เพียงพอในการป้องกันโรคโควิด-19
สำหรับ วัคซีนโควิด 19 ที่สามารถฉีดได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน – 4 ปี คือวัคซีนไฟเซอร์ (ฝาสีแดง) ซึ่งผลิตจากสารพันธุกรรม หรือเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA vaccine) กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี โดยเด็กเล็ก จะใช้ปริมาณวัคซีนขนาด 3 ไมโครกรัม จำนวน 0.2 มิลลิลิตรฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศไทย เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยสูง โดยฉีด 3 เข็มวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ห่างกัน 1 เดือน และเข็มที่ 3 ห่างจากเข็มที่ 2 ไปอีก 2 เดือน หลังฉีดให้สังเกตอาการ 30 นาทีและติดตามต่อจนครบ 1 เดือน โดยจัดจุดบริการแยกจากกลุ่มวัยอื่น เพื่อป้องกันความสับสนในการนำเด็กเข้ารับวัคซีน ส่วนอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนพบว่าในเด็กเล็ก มีผลข้างเคียงน้อยกว่าเด็กโต ส่วนมากอาการจะหายได้เองใน 1 – 2 วัน ถือว่าเป็นวัคซีนที่ปลอดภัยสำหรับเด็กเล็กและยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะ MIS-C (Multisystem Inflammatory Syndrome in Children : ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่พบหลังเด็กหายจากการติดเชื้อโควิด-19) บางรายอาจพบอาการไข้ หนาวสั่น ปวด บวม รอยแดง บริเวณที่ฉีด ปวดหัว ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย หากเด็กมีอาการภายหลังได้รับวัคซีน เช่น ใจสั่น เจ็บหน้าอก หายใจ ไม่อิ่ม หอบเหนื่อย ให้รีบนำเด็กไปพบแพทย์ทันที
นพ.สงกรานต์ ไหมชุม ได้กล่าวย้ำว่า แม้โรคโควิด 19 จะเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง แต่การฉีดวัคซีนยังจำเป็นในการลดอาการป่วยหนัก และลดการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด 19 โรงพยาบาลทุกแห่งในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ได้เตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน – 4 ปี จึงขอเชิญชวนผู้ปกครองนำเด็กมารับการฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ณ โรงพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่ง อย่างไรก็ตามวัคซีนโควิด 19 ในเด็กเล็กสามารถให้พร้อมกับวัคซีนอื่น ๆ ในวันเดียวกันหรือห่างกันเท่าใดก็ได้ กรณีเด็กมีประวัติติดเชื้อโควิด 19 ให้เว้นระยะห่าง 3 เดือนนับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ หากเด็กมีอายุครบ 5 ปี เมื่อถึงกำหนดรับวัคซีนเข็มถัดไป สามารถฉีดวัคซีนฝาสีส้มจนครบ 3 เข็มโดย มีระยะห่างตามเดิม (สัปดาห์ที่ 0 , 4, 12) แม้วัคซีนโควิด 19 จะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยเสริมการป้องกันโรค แต่การป้องกันตนเองที่ดีที่สุดคือ การสวมหน้ากากอนามัย , รักษาระยะห่างระหว่างบุคคล , หมั่นล้างมือบ่อย ๆ และหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด ขอย้ำว่าหลังจากนี้มีการผ่อนคลายต่าง ๆ จึงมีความเสี่ยงติดเชื้อมากขึ้นทั้งผู้ใหญ่และเด็กแต่วัคซีนจะช่วยป้องกันการป่วยหนัก
อ้างอิง : สาธารณสุขจังหวัดสงขลา