ม.อ.จับมือ 5 คณะเร่งสร้างการรับรู้ “สมุนไพรไทยกระตุ้นภูมิคุ้มกันไวรัส” สำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) จับมือ 5 คณะ เร่งสร้างการรับรู้ “สมุนไพรไทยกระตุ้นภูมิคุ้มกันไวรัส” เน้นรับประทานอาหารอย่างชาญฉลาด ด้วยการบริโภคที่หลากหลาย
ผศ.ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ เปิดการเสวนา “สมุนไพรไทยกระตุ้นภูมิคุ้มกันไวรัส” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย รศ.ดร.ภก.ภาคภูมิ พาณิชยูปการนันท์ นักวิจัยศูนย์วิจัยความเป็นเลิศยาสมุนไพรและเทคโนโลยีชีวภาพทางเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ รศ.นพ.ศรัญญู ชูศรี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ อาจารย์สมพร ชาญวณิชย์สกุล อาจารย์ผู้มีความรู้ความสามารถ โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทย คณะการแพทย์แผนไทย ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ปาริชาติ วิสุทธิสมาจาร ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศชุมชน คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผู้สนใจตลอดจนสื่อมวลชนทุกแขนงเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก
ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) โดยสำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม จึงได้ร่วมกับคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม คณะพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะการแพทย์แผนไทย และคณะเภสัชศาสตร์ จึงได้จัดการเสวนา “สมุนไพรไทยกระตุ้นภูมิคุ้มกันไวรัส” ในครั้งนี้ขึ้น เพื่อขยายองค์ความรู้เกี่ยวกับการรับประทานสมุนไพรไทย พร้อมให้ทุกคนตระหนักในการป้องกันตนเอง และคนในครอบครัวด้วยสมุนไพรไทย นอกเหนือจากการป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในที่ชุมชน และการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ
ขณะที่ รศ.ดร.ภก.ภาคภูมิ พาณิชยูปการนันท์ นักวิจัยศูนย์วิจัยความเป็นเลิศยาสมุนไพรและเทคโนโลยีชีวภาพทางเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ กล่าวว่า การวิจัยเรื่องสมุนไพรไทยในการสร้างภูมิคุ้มกันโรค เริ่มเป็นที่สนใจ และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ตั้งแต่การระบาดของโรคซาร์ส เมื่อหลายสิบปีก่อน ซึ่งไวรัสโรคซาร์สอยู่ในกลุ่มปอดอักเสบ กลุ่มเดียวกับโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
ทั้งนี้ มีการวิจัยค้นพบว่า “พลูคาว” ซึ่งปกติคนไทยรับประทานเป็นอาหารอยู่แล้ว ถือเป็นผักมีผลในการกระตุ้นอิมมูน (Immune) หรือภูมิคุ้มกัน ภูมิต้านทานโรคได้
ดังนั้น การสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายตนเองได้ดีที่สุด คือการรับประทานอาหาร สมุนไพร ผัก และผลไม้หลากสีในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป เพราะหากรับประทานมากเกินความจำเป็น จะทำให้ตับและไตทำงานหนักขึ้น จึงเน้นย้ำให้ทุกคนรับประทานอาหารให้ชาญฉลาด ด้วยการบริโภคที่หลากหลาย ปลอดสารพิษ เพื่อการป้องกันตนเองจากโรคต่างๆ รวมทั้งโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ด้วย
ภาพ: สำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
อ้างอิง: ผู้จัดการออนไลน์